กรมอนามัย ย้ำ 3 กลุ่มสำคัญ “ผู้ปรุงประกอบ – ผู้ส่งอาหาร – ผู้บริโภค” ยึดหลักสุขาภิบาลอาหารสร้างความปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด 19

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ปรุงประกอบ ผู้ส่งอาหาร และผู้บริโภค ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ และลดความเสี่ยงโรคโควิด 19
​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงการเฝ้าระวังสถานการณ์ โรคโควิด 19 ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวันในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และพบมีผู้เข้าข่ายความเสี่ยงติดเชื้อ ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) มีความห่วงใยพร้อมขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการป้องกันตนเองด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี ซึ่งนอกเหนือ จากการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือแล้วนั้น ยังต้องให้ความสำคัญต่อวัตถุดิบและกระบวนการปรุง ประกอบอาหารด้วยเช่นกัน เนื่องจากช่วงเวลานี้ประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการบริโภคอาหารทะเล หรือวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ โดยมีแหล่งที่มาจากตลาดสดในจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นจุดของการพบผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากกว่า 800 คน สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้จึงต้องแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มผู้ปรุง ประกอบอาหาร เบื้องต้นอาหารต้องปรุงสุกดี ปรุงทีละหม้อเป็นการดีที่สุด ไม่แนะนำให้ปรุงอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ วัตถุดิบและภาชนะต้องล้างสะอาด ขณะที่พ่อครัวและแม่ครัวที่ประกอบอาหาร ต้องสวมใส่หมวก และชุดที่รักษาความสะอาด โดยหากผู้ปรุงประกอบหรือผู้สัมผัสอาหาร เป็นไข้ ไอ ไม่สบาย ให้หยุดปฏิบัติงาน ส่วนเรื่องภาชนะที่ใส่อาหาร ต้องสะอาด สามารถใส่อาหารที่มีความร้อนได้ ถ้าอาหารชนิดมีน้ำก็ต้องมีฝาปิดมิดชิด และตัวอาหารต้องใส่ลงไป ในภาชนะที่ใส่อาหารได้ทั้งหมด ไม่ล้นออกมาและปิดได้สนิท
​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ 2 กลุ่มพนักงานส่งอาหาร (Deliverer) โดยปัจจุบันลักษณะการจัดส่งอาหารมีบริการ 2 รูปแบบ คือ พนักงานที่เป็นของบริษัทหรือร้านทำอาหารเอง กับผู้บริการที่รับอาหาร ไปส่ง สำหรับสถานประกอบการที่มีผู้ส่งอาหาร พบว่ามีการออกแบบให้ส่งครั้งละ 1 ต่อ 1 เพื่อให้อาหารส่งไปถึงมือผู้บริโภคในระยะเวลาที่กำหนด อาหารยังคงสดใหม่และยังอุ่นอยู่นั่นเอง เพื่อทำให้คุณภาพอาหารถึงมือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ ต้องดูแลภาชนะบรรจุและมือให้สะอาด ขณะเดียวกันต้องมีการทำประวัติและตรวจสุขภาพของ กลุ่มพนักงานส่งอาหารด้วย หากไม่สบาย ต้องให้งดการทำงานทั้งหมด เหมือนกลุ่มผู้ปรุงประกอบอาหาร แต่หากเป็นพนักงานหรือแรงงานต่างด้าวที่ส่งของภายในตลาดสด ผู้ประกอบการตลาดต้องหมั่นสังเกตอาการแรงงาน ต่างด้าว ทั้งที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมีอาการไข้สูง ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ หายใจเหนื่อย ให้งดปฏิบัติงาน และไปพบแพทย์ทันที
​“สำหรับกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้บริโภค ต้องตระหนักและรู้เท่าทันต่อการเลือกซื้อสินค้าและมีสุขอนามัย การบริโภคอาหารเพื่อความปลอดภัย โดยเมื่อรับอาหารที่ปรุงสำเร็จจากผู้ส่งอาหารแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาด แล้วนำอาหารไปถ่ายใส่ในภาชนะที่สะอาด แล้วอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค แต่หากเป็นการปรุงประกอบอาหารเองก็เน้นการปรุงสุก เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค และเวลาชิมอาหาร ขอให้ใช้ช้อนที่ใช้ชิมอาหารเป็นการเฉพาะชิม อย่าใช้ช้อนที่ทำอาหารชิมอาหารโดยตรงเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกัน การระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลในการปฏิบัติตนตามหลักสุขาภิบาลอาหารสามารถสอบถามได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น