​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ” (ศกพ.ส) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมย้ำ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองเป็นพิเศษ

วันนี้ (28 ธันวาคม 2563 ) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง การแถลงข่าวยกระดับ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ” (ศกพ.ส) ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 ว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล PM2.5 พบว่า สภาพอากาศปิด ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง และมี ค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มในหลายพื้นที่ และยังมีอีก 7 พื้นที่ที่มี PM2.5อยู่ในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าที่ผ่านมาสถานการณ์จะเบาบางลง แต่คาดว่า วันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2563 ลมมีกำลังอ่อนและการยกตัวของอากาศต่ำ ส่งผลให้ PM2.5 จะสะสมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในระดับสีส้ม ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นที่บางจังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นสูงด้วย


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้สุ่มสำรวจอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละอองในช่วง 14 – 25 ธันวาคม เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก (45.1%) รองลงมาคือ แสบจมูก (35.5%) และแสบตา คันตา (34.8%) โดยพบว่ามีอาการมากที่สุดในวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2563ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ค่า PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) หลายพื้นที่ และพบว่าคนที่มีโรคประจำตัวมีอาการมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอาการคัดจมูก มีน้ำมูกและอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
กรมอนามัยจึงได้ยกระดับในการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งภายใต้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ) โดยมีหน้าที่ในการเฝ้าระวัง สื่อสารข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งการเจ็บป่วย พฤติกรรม ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการป้องกัน ดูแลสุขภาพตนเอง
​“ทั้งนี้ ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้าง ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และ ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงควรดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ปราศจากฝุ่น นอกจากนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ด้วยการ ดูค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข หรือสามารถร้องเรียนมาได้ที่ไลน์ ‘อาสาสู้ฝุ่น’ กรมอนามัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น