สวนธรรมภูสมะวราราม จัดพิธีแห่ต้นตะเป่ส่า งานดับไฟเทียน ถวายอุ๊ปพารา พระอุปคุตทั้ง 8 พิธีบุญถวายทานทางไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 27 ธันวาคม 2563 ณ วัดภูสมะวราราม บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เวลาประมาณ 18.00 น. พระปลัดจิตตพัฒน์ อัคคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดภูสมะวราราม นำคณะศรัทธาสาธุชนหลายชาติพันธุ์ จัดพิธีแห่ต้นตะเป่ส่า ข้ามสะพานซูตองเป้ สะพานอธิษฐานสำเร็จแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเจ้าภาพถวายต้นตะเป่ส่า ( ตะเป่ส่าปิเจ ) จำนวนทั้งสิ้น 24 ต้น เช่น คณะศรัทธาวัดจองกลางและกลุ่มธรรมสักจ่า กลุ่มอาสางามตา
สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน คณะศรัทธาวัดภูสมณาราม(ซูตองเป้) ครอบครัว กาสุนันท์  สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน
หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน  คณะศรัทธาวัดผาอ่าง  คณะศรัทธาบ้านสบสอย  นางเทพินท์ พงษ์วดี พร้อมคณะ ครอบครัวยินดี  ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน   ไลน์แด๊นซ์มิตรอะไหล่  พ่อจางบุญ แม่จางแสง บ้านทรายขาว คณะครูนักเรียนโรงเรียนบ้านกุงไม้สัก  คณะศรัทธาบ้านทุ่งกองมู  ตถา เนตรพระวงศ์  และครอบครัว  คณะครูนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยผา  ครอบครัวอิสรชีววัฒน์  ครอบครัวพงษ์วัชรารักษ์   ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา  คณะศรัทธาบ้านห้วยป๊อกจ่าน หจก.คนโตเจริญทรัพย์  สิทธิพงษ์ ด่านสกุลทอง


ภายในงานมีพิธีแห่ต้นตะเป่ส่าโหลง ถวายอุ๊ปพารา พระอุปคุตทั้ง 8 พิธีถวายผ้าป่า พิธีถวายต้นตะเป่ส่า 24 ต้น (หรือภาษาไทใหญ่เรียกว่า ปิเจซาวสี่ ) ซึ่งเป็นพิธีบุญถวายทานทางไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน การประกวดรำนก มหรสพต่างๆ เช่นการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงวงดนตรี การละเล่นสอยดาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ที่เลือนหายไปจากแม่ฮ่องสอน เหลือเฉพาะการถวายในงานปอยส่างลองเท่านั้น
ต้นตะเป่ส่า เป็นชื่อเรียก ต้นไม้ที่จัดทำขึ้น หรือ รูปแบบพิธีกรรมการทำบุญถวายทานของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีรากศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า ปะเต่ต่าปิ่น คำว่า ปะเตต่า หมายถึง เกิดขึ้นมาเอง ส่วนคำว่า ปิ่น หมายถึง ต้น หรือ ต้นไม้ รวมความแล้วจึงหมายถึง ต้น หรือ ต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นความเชื่อของพี่น้องชาวไตทั่วไปว่า หากใครได้ถวายต้นตะเป่ส่าเป็นพุทธบูชา ก็จะได้รับผลตอบแทนให้เกิดความมั่งมีศรีสุข มีความพรักพร้อมทั้งทางด้านเครื่องอุปโภคบริโภค นานัปการ ไม่เป็นคนยากไร้ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ประเพณีถวายต้นตะเป่ส่า ได้แบ่งแยกกิจกรรมทางพิธีกรรม และชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไต เช่น ชาวไตทางตะวันออก (เชียงตุง) หรือทางตอนเหนือของประเทศไทย เรียก ต้นกัลปึ๊ก ชาวไตทางตะวันตก เรียก โคปะเต่ส่า ชาวไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียก ต้นตะเป่ส่า ส่วนชาวไทย เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น