โรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นำแนวคิดจากการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ บนฐานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ภายใต้แนวคิดศาสตร์พระราชา อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 นายทวิล อินทสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู ได้กล่าวถึงแนวคิดในการร่วมโครงการจัดการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ บนฐานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ภายใต้แนวคิดศาสตร์พระราชา ของวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ว่า….โครงการนี้ นับเป็นโครงการที่ดี ต้องขอขอบคุณวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ที่สนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรที่ให้ความรู้ ทั้งนี้ โรงเรียน ครู นักเรียน และชุมชน ได้รับประโยชน์จากกระบวนการเรียนรู้ จากการที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ครูผู้สอน ได้มีการพัฒนาในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ สามารถนำกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ที่จะต่อยอด ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน ทั้งชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ต่างก็ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้กับ บ้าน วัด โรงเรียน ( พลัง บวร ) นับเป็นเรื่องที่ดี สำหรับตัวนักเรียนเอง ได้มีความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่มคณะ และมีความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนทำให้เกิดชิ้นงานขึ้นมา จึงอยากให้ทางวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน สนับสนุนโครงการดี ๆ แบบนี้ อย่างต่อเนื่องต่อไป…

ด้านนางสมจิตต์ มนตรี ครูผู้สอน โรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู ได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำให้ครูผู้สอนมีทักษะและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน สามารถต่อยอดนำไปเป็นผลงานทางวิชาการได้ ทั้งนี้ จะได้นำไปปรับใช้กับครูและนักเรียนในทุกชั้นเรียนเพื่อต่อยอดในการส่งเสริมความรู้ให้กับบุคคลากรของโรงเรียนและชุมชนเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ให้มากที่สุด…

สำหรับโรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู เป็นหนึ่งใน 14 โรงเรียนเครือข่ายของวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนที่ได้เข้าร่วม “โครงการจัดการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ บนฐานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ภายใต้แนวคิดศาสตร์พระราชา” ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปี 2563 โดยโรงเรียนชุมชนบ้านปางหมูได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ได้แก่ พวงกุญแจเสื้อไต และพัดไทใหญ่ ซึ่งเป็นการพัฒนาการเรียนการสอน นำไปสู่การสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านของท้องถิ่นเอาไว้ รวมทั้งนักเรียนจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับตน ครอบครัว และชุมชนต่อไป


ทศพล / แม่ฮ่องสอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น