เชียงใหม่ผนึกกำลังสู้ PM 2.5 หวังลดจำนวน Hot Spot ลง 25%

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 หารือแนวทางการดำเนินงานปี 2564 เดินหน้าสร้างการรับรู้ทุกพื้นที่ หวังลดจำนวน Hot Spot ลง 25% จากปีที่ผ่านมา พร้อมเตรียมเปิด Wall Room 7 มกราคม นี้

วันนี้ (4 ม.ค. 64) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงาน และรายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันและสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในปี 2564 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือสามารถลดจำนวน Hot Spot ลง 25% จากสถิติของปี 2563 หรือไม่เกิน 17,326 จุด และเป้าหมายพื้นที่เผาไหม้ไม่เกิน 1 ล้าน 3 หมื่นไร่

 

สำหรับมาตรการควบคุมการเผาและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซน คือ โซนใต้ – โซนเหนือ โดยโซนใต้ ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงใหม่/สารภี/ หางดง/ แม่ออน/ สันป่าตอง/ แม่วาง/ ดอยหล่อ/ จอมทอง/ ฮอด/ ดอยเต่า/ แม่แจ่ม/ และอมก๋อย กำหนดให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงห้วงเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนโซนเหนือ ประกอบด้วย ฝาง/ แม่อาย/ ไชยปราการ/ สะเมิง/ เวียงแหน/ เชียงดาว/ พร้าว/ แม่แตง/ แม่ริม/ ดอยสะเก็ด/ สันทราย/ กัลยาณิวัฒนา/ และสันกำแพง กำหนดให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงห้วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 โดยกำหนดโควตาพื้นที่จัดการเชื้อเพลิงไม่เกิน 500,000 ไร่ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องมีการเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตร ให้ทำการแจ้งผู้ใหญ่บ้านเพื่อลงทะเบียนก่อนเผาทุกครั้ง และต้องมีการทำแนวกันไฟและควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม ส่วนพื้นที่ที่ไม่อยู่ในแผนบริหารจัดการฯ และพื้นที่ชุมชน ห้ามทำการเผาในที่โล่งทุกชนิด อย่างไรก็ตามหากพบว่าสภาพอากาศปิด หรืออากาศไม่ดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จังหวัดจะมีคำสั่งให้งดการบริหารจัดการฯ จนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ

 

 

ในส่วนของการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข จะได้มีการสำรวจกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษหมอกควัน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 13 โรค ตามระบบรายงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หลายภาษาเพื่อสื่อสารความเสี่ยง สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมไปยังประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงการจัดตั้ง Safety Zone ในระดับอำเภอ ตำบล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อ Safety Zone ทั้งหมดได้ภายในกลางเดือนมกราคมนี้ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Fire Management Decision Support System ภายใต้แนวคิด ถูกที่ถูกเวลา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ลงข้อมูลพื้นที่ และช่วงเวลาของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือเรียกว่าการลงทะเบียนขอใช้ไฟ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งมายังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ หรือ Wall Room เพื่อทำการพิจารณาวิเคราะห์สภาพอากาศ และความเหมาะสมในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมไปถึงการคำนวณอัตราการปลดปล่อยเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถจัดการปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีนี้ จะใช้แนวทางจากการถอดบทเรียนของปีที่ผ่านมา ประกอบกับการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ที่ได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา ข้อคิดเห็น ทั้งข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การให้ความสำคัญเชิงพื้นที่และมองบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ จนทำให้เกิดกรอบและแนวทางใหม่ในการดำเนินงานจากทางรัฐบาล ส่งลงมาสู่การปฏิบัติของส่วนราชการในพื้นที่ พร้อมมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง หมุนเวียนกันจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้กับประชาชนเหมือนในปีที่ผ่านมา อาทิ การเดินรณรงค์ การจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อลดการใช้รถยนต์ เป็นต้น และมอบหมายให้มูลนิธิสภาลมหายใจ เป็นหน่วยงานกลางในการรับบริจาคและกระจายสิ่งของ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และสามารถกระจายสิ่งของได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ หมู่บ้าน และชุมชน พร้อมเตรียมเปิดศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น