ฝุ่น PM2.5 (Particulate Matters) ภัยอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก  ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม ด้วยขนาดที่เล็กของฝุ่นละออง จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายในอากาศ เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย  ซึ่งฝุ่นพิษนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และในกรณีที่โหดร้ายที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัญหาฝุ่น PM2.5  เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ทวีความรุนแรงขึ้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ทุกปกคลุมหนาด้วยฝุ่นขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่สามารถสังเกตุได้ชัดด้วยตาเปล่า  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 มีดังนี้

1.ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ

2.ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง

3.การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์

4.การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน

5.กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร

สัญญาณอันตรายจากฝุ่น PM2.5

1.ตาแดง บริเวณเปลือกตาบวม ใต้ตาช้ำ สังเกตได้จากสีที่คล้ำขึ้น มีน้ำตาไหลบ่อย ๆ

2.ผิวหนัง เป็นตุ่มหรือผื่น นูนแดงกระจายไปทั่วบนผิวหนัง

3.รู้สึกคัน แสบ หรือแน่นในโพรงจมูก มีน้ำมูกแบบใส

4.ไอ จาม รู้สึกแน่นหน้าอก

5.ตัวร้อน มีไข้

นอกจากสัญญาณอันตรายแล้ว เมื่อฝุ่นเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ อาทิ

สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น

โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น

อาจเป็นโรคร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคมะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ

ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ถ้าเป็นหนักมากอาจเกิดลมพิษบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ

ทำร้ายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวอ่อนแอ เหี่ยวย่นง่าย

หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดม PM2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์

วิธีดูแลและป้องกันตนเองจากฝุ่น pm 2.5 มีดังนี้

1.ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน

2.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น

3.ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้

4.งดสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

5.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์

6.ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ หรือไปกลับทางเดียวกัน

7.สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป ไม่สามารถดักจับฝุ่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าปกติ ซึ่งสามารถกรอง PM2.5 ได้เท่านั้น

 

ข้อมูลจาก allwellhealthcare.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น