กรมอนามัย แนะเข้มดูแลผู้สูงวัย 3 กลุ่ม ‘ติดสังคม – ติดบ้าน – ติดเตียง’ ป้องกันโควิด-19

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้สูงอายุ 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และ กลุ่มติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิด–19 ได้ง่ายกว่ากลุ่มวัยอื่น พร้อมย้ำ หากออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ โดยกระทำอย่างเคร่งครัด หากเป็นกลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง ผู้ดูแลใกล้ชิดต้องดูแลเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข และเพิ่มเรื่องสภาพแวดล้อมภายในบ้านร่วมด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ และในกรณีที่มีการติดเชื้อ ก็มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเช่นกัน โดยในประเทศไทยได้แบ่งกล่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มติดสังคม ซึ่งร้อยละ 96 เป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือมีโรคเรื้อรังแต่ควบคุมได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยอิสระ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เมื่อออกจากบ้านต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ หากไปในที่สาธารณะต้องให้ความร่วมมือ ในการคัดกรองของสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
​“สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มติดบ้าน มีร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน และกลุ่มที่ 3) กลุ่มติดเตียง มีร้อยละ 1 กลุ่มนี้เป็นผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดังนั้นผู้ดูแลใกล้ชิด หรือบุตรหลานที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียง จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และควรตระหนักไว้เสมอว่าโรคโควิด-19 สามารถที่จะมีการแพร่เชื้อได้ ในขณะที่ผู้รับเชื้อไม่มีอาการ เมื่อกลับถึงที่พัก/บ้านให้อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วค่อยทำกิจกรรมอื่น หากพบว่าตนเองเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเดินทางกลับจากพื้นที่ความเสี่ยงสูง ต้องแยกตัวออกจากผู้สูงอายุอย่างเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการกินร่วมกัน ต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ มีการจัดห้องพักและของใช้ส่วนตัวแยกกับผู้สูงอายุ หากแยกห้องไม่ได้ ควรจัดที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่น สวิตช์ไฟ ลูกบิดหรือมือจับประตู โต๊ะ ราวจับ รีโมท โทรศัพท์ และหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากมีไข้ ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น