สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น จ.แพร่ มีแห่งเดียวและมีมากที่สุดในโลก

เมื่อเอ่ยถึงคัมภีร์ใบลานแล้ว ต้องยกให้วัดสูงเม่น จ.แพร่ ขึ้นชื่อว่ามีมากที่สุดในโลก มีถึง 1,700 มัด นับเป็นผูก 23,000 ผูก นับเป็นใบ 620,000 ใบ นับเป็นอักขระธัมม์ 372,000,000 ตัว คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น คือเอกสารบันทึกคำสอนเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆเช่น หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ ตำหรับยารักษาโรค ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่บันทึกคำสอนไว้ จัดเป็นหมวดหมู่ภายในหอพระไตรปิฏก และต่อได้จัดทำตั้งป็นสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น โดยมี พระครูปัญญาสารนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เป็นผู้จัดการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน

พระครูวิบูลสรภัญ(ฉัตรเทพ) ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น จ.แพร่ เจริญพรว่า สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น จ.แพร่ เกิดจากการสนองงาน ตามพระราชดำรัสของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ได้เสด็จมา ณ วัดสูงเม่น เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้ทรงเสด็จอัญเชิญคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฏกจากหอธัมม์หลังเดิม ขึ้นสู่หอพระไตรปิฏกหลังใหม่ ของวัดสูงเม่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2557 และทรงได้ตรัสเกี่ยวกับวัดสูงเม่นว่า “ขอให้ทางวัด ร่วมกับ ชาวบ้าน และ ชุมชน อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานลักษณะเช่นนี้ต่อไป เพราะทำได้ดีมาก เป็นตัวอย่างที่อื่นได้ เพราะคัมภีร์ใบลานที่นี่มีมาก และ เป็นของมีค่ามาก อยากให้มีการทำเป็นแหล่งเรียนรู้ สอนภาษาล้านนา และ เผยแผ่วิธีการอนุรักษ์ โดยเฉพาะ “ประเพณีตากธัมม์” ไปยังทั้งพระภิกษุ สามเณร และ ประชาชน ได้รู้แล้วเข้าใจ จะได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์และสมบัติของชาติต่อไป”

ด้วยพระราชดำรัสดังกล่าว ทางคณะกรรมการวัดสูงเม่น นำโดย นายสมหวัง พ่วงบางโพ นายอำเภอสูงเม่น (ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่) และอาจารย์วันเพ็ญ แก้วกัน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเม่น จึงได้ประชุมกับชุมชนและมีมติ ให้ยกระดับ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม วัดสูงเม่น ขึ้นเป็น แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางด้านคัมภีร์ใบลาน ของวัดสูงเม่น ภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์สถานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ.2558 จากนั้นได้มีการปรับปรุงพัฒนาวัด ภายใต้ธีม “เมืองคัมภีร์ธัมม์โบราณ” โดยปฏิรูป ปรับภูมิทัศน์ และ สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ใบลาน และ หลวงปู่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร โดยได้เริ่มจัดทำแหล่งเรียนรู้ด้านคัมภีร์ใบลานแบ่งเป็น หอธัมม์ ต่าง ๆ จำนวน 3 หอ คือ หอมนุษย์ หอฟ้อ และ หอนิพพาน และ จัดให้มีห้องฟังบรรยาย ห้องอบรมการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น

และ ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2558 มีการเปิดตัวสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่นอย่างเป็นทางการ และจังหวัดแพร่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น ให้ พระครูปัญญาสารนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เป็นผู้จัดการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ได้มีการวางแผน และ ปฏิบัติงานตามแผนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการด้านกาอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะใน พ.ศ.2559 คัมภีร์ใบลานของวัดสูงเม่นได้ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยส่วนท้องถิ่น จาก ยูเนสโก ประเทศไทย ซึ่งเป็นแห่งเดียวของจังหวัดแพร่ จึงทำให้ มีคณะต่าง ๆ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง สร้างกระแส การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของที่ต่าง ๆ มีผู้สนใจ จากทั่วโลกได้เข้ามาชม และ ทำกิจกรรมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตลอดปี จนสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่ ในนามของ “เมืองพระธัมม์ล้านนา ของโลก” เพราะ วัดสูงเม่น เป็น วัดที่มีคัมภีร์ใบลานล้านนา มากที่สุดในโลก

ปัจจุบัน สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น เป็นสถานที่ศึกษา และ แหล่งท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน และ ยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการเป็น “ศูนย์วัฒนธรมเฉลิมราช วัดสูงเม่น” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมไปเมืองแพร่ต้องแวะไแเยี่ยมชมคีมภีร์โบราณใหญ่ที่สุดในโลกได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น