กรมอนามัย จับมือภาคี เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุมเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับเด็ก เพื่อกำหนดทิศทาง และพิจารณากรอบ พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับเด็ก


นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็ก ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจากระบบเฝ้าระวังกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 12.8 ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย (ร้อยละ 10) ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ (NCDs) จากข้อเสนอแนะ The United Nations Interagency Task Force (UNIATF) ว่าด้วยเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้อ 4.4 เรื่อง ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดในผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มสำหรับเด็ก ที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุม NCDs แต่อย่างไรก็ตาม เกือบ ร้อยละ 90 ของเด็กไทย เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อทางการตลาดจากการเห็นโฆษณาอาหาร และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง รวมถึงถูกชักจูงด้วยวิธีการตลาดที่หลากหลายรูปแบบ


“ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีช่องว่างหลายประเด็น ที่จะคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารที่ไม่เหมาะสม จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่าง พ.ร.บ. การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับเด็กขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัยกับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์เครือข่าย NCDs แห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนการศึกษาวิจัย ข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก และจัดทำร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก เพื่อปกป้องเด็กจากกลยุทธ์ทางการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็ก” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น