สสจ.เชียงใหม่ เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน จากปัญหาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ออก 5 มาตรการ เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน จากปัญหาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แนะประชาชนหลีกเลี่ยง หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง โดยสามารถตรวจเช็คค่าฝุ่น เพื่อดูสถานการณ์มลพิษอากาศ ได้ที่แอปพลิเคชั่น Air4Thai

นางพรทิพย์ มธุรวาทิน หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณาสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( PM 2.5) โดยใช้ข้อมูลผู้มารับบริการเป็นผู้ป่วยนอก ด้วยกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง ข้อมูลของโรค ณ เดือนธันวาคม 2563 ปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ จำนวน1,297 ราย,ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง จำนวน 155 ราย,ผู้ป่วยกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ จำนวน 1,297 ราย และผู้ป่วยกลุ่มโรคตาอักเสบ จำนวน 1,094 ราย
ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานตามมาตรการในการเฝ้าระวังผลกระทบด้วนสุขภาพของประชาชน จากปัญหาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2564 ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ

1.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่สุขภาพและประชาชนทั่วไป,เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ เพื่อเตือนภัยและสร้างความร่วมมือจัดหาเครื่องวัดคุณภาพอากาศ เพื่อประชาชนรับทราบสถานการณ์ตนเองในพื้นที่ ประสานงานส่งเสริม สนับสนุนสู้ภัยหมอกควันด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมทั้งแจ้งเตือน สื่อสารความเสี่ยงจากหมอกควัน ระดับ 1 (1 ครั้ง/วัน)
2. เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและสอบสวนโรค กรณีพบความผิดปกติหรือ PM 2.5 เพิ่มขึ้นของอย่างผิดปกติมากกว่า 3 วัน
3. ยกระดับความรอบรู้และตอบโต้ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การประชาสัมพันธ์ หลากหลายภาษา เพื่อความเข้าใจ การเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการจัดทำ แอปพลิเคชั่น คลินิกมลพิษ เว็บไซต์ คู่มือ และโปสเตอร์
4. ดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่เสี่ยง โดยการจัดโครงการรณรงค์ Safety Zone ในสังกัด กสธ.เพื่อการดูแลผู้ป่วย ประชาชน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การจัดระบบดูแลผู้ป่วย 13 โรค ที่ได้รับผลกระทบและคลินิกมลพิษ เข้าถึงรวดเร็วด้วยคลินิกมลพิษออนไลน์ http://www.pollutionclinic . com/home/diagnose/ประสานท้องถิ่นเพื่อสำรอง แจกหน้ากาก N 95 ให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งจัดเตรียมระบบกากรแพทย์ฉุกเฉินและการส่งต่อ
5. มาตรการทางกฎหมาย สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดการก่อให้เกิด PM 2.5 จากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะการเผาขยะมูลฝอยในที่โล่ง

นางพรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพและปฏิบัติตน ดังนี้ ตรวจเช็คค่าฝุ่น เพื่อดูสถานการณ์มลพิษอากาศ จากระดับสี ได้ที่แอปพลิเคชั่น Air4Thai,ประเมินว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด โรคหัวใจ เป็นต้น และผู้ที่มีอาชีพอยู่กลางแจ้ง เช่น วินมอเตอร์ไซค์ คนทำงานก่อสร้าง แม่ค้าริมถนน ตำรวจจราจร คนกวาดถนน,ปฏิบัติเพื่อป้องกันฝุ่น กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ฝุ่น เลี่ยงหรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ ที่มีค่าฝุ่นสูงเลี่ยงการออกจากบ้าน และปิดประตูหน้าต่างให้สนิท สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N 95 ทุกครั้ง เมื่อจำเป็นต้องไปในพื้นที่เสี่ยง,เลือกใช้หน้ากากป้องกัน ทั้งหน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัย,หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวี๊ด ไอบ่อย แน่นหน้าอก ให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยหมั่นสังเกตอาการ หากผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-211-048-50 ต่อ 124

ร่วมแสดงความคิดเห็น