(มีคลิป) พชภ.ส่งเสริมเด็กพื้นที่ชายแดนเชียงราย หันมาออกกำลังกาย ลดการบริโภคอาหารขยะ

เมื่อประมาณช่วงกลางปี 2562 ได้มีข่าวหนึ่งที่เป็นที่สนใจจากสังคม ก็คือการตรวจพบสารพิษตกค้างจากการเกษตรในเลือดของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ทำให้เกิดการตื่นตัวของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้ง รพ. สาธารณสุข อปท. โรงเรียน และเกษตรกร จนมีการตั้งเครือข่ายเกษตรปลอดภัยขึ้นมาในพื้นที่

ในครั้งนั้น หนึ่งในหน่วยงานที่เป็นผู้จุดกระแสข่าว จนเกิดเป็นที่สนใจของสังคมก็คือ มูลนิธิฯพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ชายขอบ ซึ่งยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าไม่ถึงโอกาสในด้านต่างๆ อยู่ พชภ.ได้ตระหนักถึงปัญหาสารพิษตกค้างดังกล่าว และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ และชาวบ้านได้มีร่างกายแข็งแรง

นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กและชุมชนคนต้นน้ำในพื้นที่ จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2558-2559 พบว่าเด็กยังนิยมบริโภคขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม โดยได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณา และใช้เวลาในการเล่นมือถือมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสนิยม จนเกิดปัญหาเด็กร่างกายไม่แข็งแรง น้ำหนักมากหรือน้อยเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทางมูลนิธิฯ จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มีพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอของ จ.เชียงราย คือ อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สรวย และ อ.เวียงแก่น

ในระยะแรกจะเป็นโครงการ “เด็กดอยกินดี” ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัย จากพื้นที่การเกษตรในชุมชนใกล้เคียงเข้าสู่ครัวของโรงเรียนมากขึ้น โดยกลไกระดับชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมให้โรงเรียนได้ปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในโรงเรียน สร้างเครือข่ายเกษตรปลอดภัย ลดการบริโภคขนมกรุบกรอบในโรงเรียน ซึ่งผลการดำเนินโครงการทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เด็กทานขนมกรุบกรอบน้อยลง รวมถึงตระหนักถึงปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และสามารถลดการใช้สารเคมีเกษตรในพื้นที่เป้าหมายได้

“มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาวะเนือยนิ่ง เพราะมีเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ การเดินทางมาโรงเรียนก็มีผู้ปกครองคอยรับ-ส่ง โดยใช้มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และรถต์รับจ้างรับส่งนักเรียน แตกต่างจากสมัยก่อนที่เดินเท้าหรือปั่นจักรยานไปกลับโรงเรียน ทำให้เด็กห่างเหินจากการออกกำลัง เราจึงมีโครงการสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวทางร่างกายมากขึ้น แต่เป็นการกระทำที่ทวนกระแสความรู้สึก เพราะมนุษย์มักชอบอยู่นิ่งๆมากกว่าการเคลื่อนไหว ดังนั้นจึงต้องหาแรงจูงใจให้เด็กๆเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” นางจุฑามาศ กล่าว

โครงการ “เด็กดอยกายดี” เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการเด็กดอยกินดี โดยมีแนวคิดเพื่อเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ลดการใช้มือถือเล่นเกม เพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัย ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมของโครงการก็คือ จัดให้มีการประกวดการเต้นประกอบเพลง “เด็กดอยกายดี” ซึ่งทางมูลนิธิฯได้จัดทำเพลงขึ้นมา เพื่อให้โรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายส่งตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันออกแบบท่าเต้นประกอบเพลง ซึ่งมีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการ เพื่อไปพบปะกับเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ อ.เวียงแก่น จำนวน 3 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนบ้านแจมป๋อง ต.หล่ายงาว โรงเรียนบ้านทุ่งคำ ต.หล่ายงาว และโรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ ต.ปอ พบว่าเด็กนักเรียนมีการตื่นตัวกับโครงการดังกล่าว มีการร่วมมือออกความคิดเห็นช่วยออกแบบท่าเต้นร่วมกับครูผู้ฝึกสอน ทำให้เด็กได้ฝึกทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น รู้จักการเข้าสังคม และที่สำคัญเด็กๆได้ออกกำลังกาย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เด็กได้ผ่อนคลาย ส่งผลให้มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใสมากขึ้น ลดปัญหาการติดเกม ติดสื่อโซ    เซียล ได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี ทางมูลนิธิฯพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จึงมีแนวคิดจะดำเนินการโครงการเด็กดอยกายดีอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ.2564 และยังมีโรงเรียนที่อยู่นอกเขตโครงการได้ขอเข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ ได้แก่ โรงเรียนในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย และ อ.เชียงแสน ซึ่งทางมูลนิธิฯได้ตอบรับความต้องการ และพยายามผลักดันให้มีการขยายเครือข่ายครอบคลุมทั้งจังหวัดให้มากที่สุด

หากเด็กๆได้รับการส่งเสริมให้มีการขยับร่างกาย ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวบ่อยๆ และได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง สมองปลอดโปร่ง เรียนหนังสืออย่างมีความสุข จดจำบทเรียนได้ดี สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ไม่แน่ว่าในอนาคตเด็กๆในพื้นที่ชายขอบเหล่านี้ จะเติบโตไปเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ก็อาจจะเป็นไปได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น