เกษตรกรเวียงแก่นพร้อมขยายแปลงปลูกผักปลอดสารเคมี ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเรื่องการตลาด พร้อมปลูกส่งขายในพื้นที่

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64 บ้านหนองเตา ม.4 ต.ปอ อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นแนวเกษตรกรรมธรรมชาติ ปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยมีสมาชิกที่ร่วมกันปลูกที่เวียงแก่น 2 คน คือนายสิทธิชัย แซ่ฟุ้ง อายุง 57 ปี และนายวิทวัส แซ่ฟุ้ง อายุ 39 ปี

นายสิทธิชัย แซ่ฟุ้ง อายุ 57 ปี เกษตรกร กล่าวว่า ครอบครัวได้ปลูกผักปลอดสารพิษแนวเกษตรกรรมธรรมชาติ มาได้ประมาณ 8 ปี โดยมีตลาดหลักก็คือส่งให้ MOA ที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาได้ส่งให้กับโรงเรียนหนองเตาซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ด้วย แต่ในปีนี้ไม่ได้ส่งให้ ผักที่ปลูกตอนนี้จะเป็น กะหล่ำ สลัดแก้ว สลัดเรดคอส สลัดคอส และผักกาดขาว

นายสิทธิชัยกล่าวว่า ช่วงที่ไม่มีโควิด-19 ระบาด จะส่งกันสัปดาห์ละ 500-1000 กก. เข้า กทม. แต่ขณะนี้ตลาดไม่ดี ส่งเพียงสัปดาห์ละ 50-60 กก. โดยส่งให้เอ็มโอเอที่สนับสนุนค่าขนส่งให้ ซึ่งราคาจะสูงกว่าขายในพื้นที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในพื้นที่ผมก็ขายให้กับโรงเรียนราคาก็ไม่ต่างจากพื้นที่มากนัก แต่จะเป็นผักที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แม้ตอนนี้ตลาดไม่ดีแต่ก็ยังปลูกเพียงลดแปลงลง”

“ถ้ามีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาบริโภคผักปลอดสารกันเยอะๆ ก็อาจจะทำให้มีเครือข่าย มีการขยายแปลงเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ผักปลอดสารมีราคาลดลง” นายสิทธิชัยกล่าว

ด้านนายวิทวัส กล่าวว่า การปลูกผักแบบเกษตรธรรมชาติ จะเน้นที่การปรับปรุงดินโดยเน้นใช้ปุ๋ยหมักพืชสด ไม่ใช้ปุ๋ยคอกเลย ถ้าดินสภาพแย่จนไม่มีธาตุอาหารเลยอาจใช้ปุ๋ยคอกแต่ต้องหมัก 3 เดือนเพื่อให้ปลอดแอมโมเนียและเม็ดวัชพืชตายจึงจะเอาลงแปลง และใช้เศษพืชหรือฟางคลุมดิน ประมาณ 3 ถึง 5 ปี จะไม่ใช้อีกเลย ดินจะสมบูรณ์มาก ผักจะงามโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยคอกอีกเลย และจะมีตัวห้ำตัวเบียนแมลงตัวดี คอยกำจัดพวกหมัดผัก หรือศัตรูพืชแมลงตัวร้ายให้ ส่วนและดูแลแปลงเองโดยการเก็บหนอนเองบ้างหากจำนวนไม่มาก แต่หากแปลงจำนวนมากก็อาจใช้สารไล่แมลงที่หมักจากบอระเพ็ด สะเดา ตะไคร้หอม ฉีดพ่น 2 ครั้งต่อรอบการปลูก ปัญหาเชื้อราน้ำค้างในหน้าหนาว ก็ใช้การฉีดน้ำไล่ตั้งแต่เริ่มมี ทำมากว่า 10 ปี ผลผลิตงาม สามารถปลูกได้จริง

“หากจะให้ผักปลอดสารพิษไปถึงผู้บริโภค หรือให้นักเรียนในโรงเรียน ต้องการการจัดระบบการตลาดให้ชัดเจน เพราะคนปลูกสามารถขยายแปลง และเพิ่มจำนวนคนปลูก จึงคิดว่าหากจะทำคือจัดระบบ หน่วยงานหรือ ผู้อำนวยการที่ส่งเสริมต้องทำจริงถึงจะสามารถกระจายผักปลอดภัยถึงผู้บริโภคได้” นายวิทวัสกล่าว

ด้านนายเอกราช ลือชา ผอ.โรงเรียนปอวิทยา ต.ปอ เผยว่า โรงเรียนปอวิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมต้น ในด้านกิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันหรือเกษตรปลอดภัย จะมีครูที่จบด้านการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โรงเรียนได้รับงบประมาณจาก อปท. เพื่อสนับสนุนงบอาหารกลางวัน เรานำงบประมาณส่วนนั้นมาใช้ดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนจักรยานปั่นน้ำจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จำนวน 2 คัน เพื่อให้เด็กไว้ใช้ปั่นรดน้ำผักผ่านระบบสปริงเกอร์ และยังสามารถออกกำลังกาย เป็นที่สนุกสนานสำหรับเด็ก และเพลิดเพลินกับการทำการเกษตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น