องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกุมภาพันธ์  2564 พร้อมมอบผ้าห่มจากโครงการรวมใจต้านภัยหนาว

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง  ร่วมประชุมติดตามงานของมูลนิธิโครงการหลวงประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยองคมนตรีได้มอบผ้าห่มจากโครงการรวมใจต้านภัยหนาว ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  จำนวน 2,000 ผืน แก่หัวหน้าสถานี/ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง เพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคลากรและราษฎรในพื้นที่ จากนั้นได้รับฟังและติดตามความก้าวหน้าการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงและพื้นที่โดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเน้นการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน และคำนึงถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สภาพดินฟ้าอากาศเป็นผลกระทบสำคัญต่อการส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถปรับแผนปฏิบัติงานได้ทันท่วงที มูลนิธิโครงการหลวงจึงมีนโยบายผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพยากรณ์อากาศ โดยพัฒนาสถานีตรวจวัดอากาศนำร่องในพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง, อินทนนท์, ปางดะ, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ และเลอตอ และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ในการจัดอบรมให้ความรู้แก่นักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่ ให้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้า และยังสนับสนุนการจัดเสียงตามสายพยากรณ์อากาศในระดับหมู่บ้าน โดยผู้ประกาศเยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเพื่อเตรียมการรองรับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังมีงานปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตร ได้แก่ ดิน และน้ำ มูลนิธิโครงการหลวงได้บริหารจัดการการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการสนับสนุนของกรมชลประทาน     กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมป่าไม้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มงานสำคัญในด่านแรกที่ช่วยดูแลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความเหมาะสม และมีประโยชน์สูงสุด ในการสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนาที่ดินได้มีโครงการอบรมหมอดินอาสา

โดยมีกิจกรรมศึกษาดูงาน อบรม ปฏิบัติจริง และอบรมผ่านถังความรู้ จนได้หมอดินดอยอาสา รวม 33 คน และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 110 ราย ในต้นเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาหมอดินน้อยเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน จำนวน 10 โรง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าความปลอดภัยของวัตถุดิบอาหารและสิ่งแวดล้อม นโยบายสำคัญอีกประการคือ การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกร มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่าง ๆ จัดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จาการสั่งสมประสบการณ์ รูปแบบการปฏิบัติที่ดี เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ แบบอย่าง และหลักการส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยของมูลนิธิโครงการหลวง เผยแพร่ออกไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศ เพื่อที่ชาวไทยจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยในทุกรูปแบบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น