จ.ลำพูน ประกาศห้ามเผาในที่โล่ง เริ่ม 13 ก.พ.-30 เม.ษ 64 ฝ่าฝืนอาจต้องระวางโทษจำคุก ปรับสูงสุด 2 ล้านบาท

ทางจังหวัดลําพูนได้มีการประกาศ เรื่อง ห้ามบุคคลทําการเผาในที่โล่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดลําพูน ด้วยปรากฏว่า ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม มักจะเกิดการเผาในที่โล่งเป็นประจํา โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 8 – 12 กุมภาพันธ์ 2564 พบจุดความร้อน ในพื้นที่จังหวัดลําพูน จากดาวเทียมระบบ VIIRS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจํานวนมาก โดยเฉพาะตําบลก้อ อําเภอลี้ จังหวัดลําพูน ก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นควัน จากการเผาในพื้นที่ป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากไฟป่า หมอกควัน และลดมลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้น จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จังหวัดลําพูน จึงห้ามบุคคลทําการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่จังหวัดลําพูน ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ – วันที่ 30 เมษายน 2564 และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

โดยในเขตพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม ห้ามไม่ให้ผู้ใด ดําเนินการเผาขยะมูลฝอย เผากิ่งไม้ใบไม้ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนวัชพืชต่าง ๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรําคาญ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัคร ทุกประเภท ถือเป็นหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลเอาใจใส่ ให้ดําเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมชี้แจง ให้ประชาชนในท้องที่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้อย่างเคร่งครัด อนึ่งการกระทําการใดๆ ดังต่อไปนี้ เป็นการกระทําความผิดตามกฎหมาย และมีบทลงโทษ ดังนี้

1.ในเขตทาง ห้ามมิให้ดําเนินการจุดไฟเผาในพื้นที่ริมทางหลวง ริมทางรถไฟ และ ริมทางหลวงท้องถิ่น ซึ่งหากพบเห็นให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดขอบเขตทางหลวงนั้น เข้าดําเนินการระงับเหตุ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทําผิดอย่างเคร่งครัด

2.ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือทําให้เกิดไฟป่าทุกชนิด การจุดไฟเผาป่า หรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ และเขตทาง จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนี้

2.1 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้าถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 54 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณีที่ได้กระทําเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท

2.2 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 14 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง ทําประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทําไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพ ป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 34 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท ในกรณีที่ได้กระทําเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท

2.3 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 55 (2) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือทําด้วย ประการใดให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติเติม ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 55 (2) ต้องระวางโทษจําคุก ตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณี ความผิดดังกล่าว ถ้าได้กระทําในพื้นที่ลุ่มน้ําชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ําชั้นที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทําต้องระวางโทษหนักกว่าโทษ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง และมาตรา 67 (2) การเผาป่าในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีความผิด ต้องระวางโทษ ตามมาตรา 103 โทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

2.4 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (1) ภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทําการยึดถือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทําการด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 (1) ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณีความผิดดังกล่าว ถ้าใต้กระทําในพื้นที่ลุ่มน้ําชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ําชั้นที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด หรือพื้นที่เปราะบาง ของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทําต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง

3. ห้ามผู้ใดทําการเผา ไม่ว่ากรณีใด ๆ อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเดือนร้อนรําคาญ หรือทํา ให้สภาพแวดล้อมเสียหาย คุณภาพอากาศลดลง หรือเป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ดังนี้

3.1 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ผู้ใดกระทําหรือละเว้นการกระทําด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทําลายหรือทําให้สูญ หายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรม ชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทําลาย สูญหาย หรือเสียไปนั้น

3.2 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นเหตุรําคาญ

4.การกระทําใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 28 (วรรค 2) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ว่าไม่มีการปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามวรรคหนึ่ง และเหตุรําคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุรําคาญนั้น และอาจจัดการตามความจําเป็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรําคาญนั้นขึ้นอีก โดยบุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับ การก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรําคาญต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสําหรับการจัดการนั้น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

5. ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 130 ห้ามมิให้ผู้ใดเผา หรือ กระทําด้วยประการใด ๆ ภายในระยะ 500 เมตร จากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันหรือสิ่งอื่นใดในลักษณะ ที่อาจทําให้ไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางเดินรถนั้น ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 130 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

กรณีพบเห็นการกระทําโดยผิดกฎหมาาย ให้แจ้งกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายกองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น และนายอําเภอ เพื่อทราบ และดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ หรือแจ้งหน่วยงาน ดังต่อไปนี้

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดลําพูน โทร/โทรสาร 053 – 562 963 ตํารวจภูธรจังหวัดลําพูน สถานีตํารวจภูธรทุกแห่ง สายด่วน 191 ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สายด่วน 1362 หรือโทร 053 – 232 019 สายด่วนทางหลวง 2586 สายด่วนทางหลวงชนบท 1146 นายอําเภอเมืองลําพูน โทร. 081 – 8674377,นายอําเภอป่าซาง โทร. 081 – 8674380, นายอําเภอลี้ โทร. 081 – 8674418,นายอําเภอแม่ทา โทร. 081 – 8674409,นายอําเภอบ้านโฮ่ง โทร. 081 – 8674397,นายอําเภอทุ่งหัวช้าง โทร. 081 – 8674423,นายอําเภอเวียงหนองล่อง โทร. 081 – 8674425 และนายอําเภอบ้านธิ โทร. 081 – 8674424

ร่วมแสดงความคิดเห็น