ม.ราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ร่วมกับ เหล่ากาชาด จ.แม่ฮ่องสอน ดำเนินงานโครงการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้ เด็กนักเรียน เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (โครงการครูอาสา)

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน โดย “วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน” ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวิพากษ์ (ร่าง) และสร้างรูปแบบหลักสูตรการฝึกอบรมครูอาสา เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการอ่านออกเขียนได้ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 33 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจาก นางธิติพร จินดาหลวง ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ พร้อมด้วย ดร.พุฒชาด จันทร์ดำ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 336 และ 337 เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

โดยมีครูใหญ่ ครูวิชาการ จากโรงเรียน/ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และ เขต 2 รวมประมาณ 60 คน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอานนท์ เที่ยงตรง อาคารฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

กิจกรรมเริ่มต้นด้วย อ.วินัย ไชยวงค์ญาติ คณบดีวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้น อ.ดร.คมศิลป์ ประสงค์สุข ประธานคณะกรรมการบริหาร หลักสูตร สาขาวิชาการประถมศึกษา กล่าวรายงานต่อประธานพิธีเปิด คือ อ.ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้กล่าวสรุปภาพรวมของโครงการและเปิดการประชุมตามลำดับ

นางธิติพร จินดาหลวง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงความเป็นมาว่าสภากาชาดไทย ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้มีการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมจากห้องเรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการจัด “ครูอาสา” ไปช่วยสอนเสริมให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-6 ที่อ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน โดยมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และ เขต 2 ร่วมสนับสนุนการดำเนินการ

การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ “วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน” ซึ่งได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดขึ้นสำหรับโรงเรียน/ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นำร่องจำนวน 15 แห่ง ก่อนที่จะขยายไปให้ครบ จำนวน 27 แห่ง ต่อไปในอนาคต โดยมีคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาการประถมศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์ประจำหลักสูตร ทุกคน และนักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษา ทุกชั้นปี และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมประมาณ 80 คน ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น