(มีคลิป) จ.แม่ฮ่องสอน เปิดให้บริการลงทะเบียน ในโครงการเราชนะ พบชาวบ้านฮือกันมาลงทะเบียน จนรับมือไม่ไหว ขณะที่ทางอำเภอส่งเจ้าหน้าที่ เข้าไปดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิด

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.15 น. นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และพบปะเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)สาขาแม่สะเรียงและพบปะประชาชนที่มาลงทะเบียน ตามโครงการ ” เราชนะ” โดยธนาคารกรุงไทยได้ออกหน่วยบริการ ให้แก่ประชาชนผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนไม่มีโทรศัพท์ในโครงการ ” เราชนะ” ณ หอประชุมอำเภอแม่สะเรียง  ซึ่งได้เปิดลงทะเบียนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีเจ้าหน้าที่อำเภอเเม่สะเรียง ร่วมให้บริการแก่ประชาชน ผู้มาลงทะเบียนในครั้งนี้ โดยประมาณ 1,300 ราย แต่สามารถลงทะเบียนได้จริงในวันนี้ได้ จำนวน 600 ราย ซึ่งอำเภอแม่สะเรียง ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง เพื่อเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 วัน คือ วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2564 หรือจนกว่าจะลงทะเบียนให้กับประชาชนจนแล้วเสร็จ

สำหรับที่อำเภอปาย ว่าที่ ร.ต.นพรัตน์ ศุภกิจโกศล นายอำเภอปาย ร่วมกับผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขาปาย อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนชาวอำเภอปาย ในการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรับสิทธิ์และทบทวนสิทธิ์โครงการเราชนะ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล มาตรการเยียวยาของโรคโควิด-19 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอปาย

อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ยังคงมีประชาชนยากจน ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถืออีกจำนวนมาก ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนดอยเขาสูงอีกจำนวนมาก ที่จะลงมาลงทะเบียน คาดว่าคงจะสร้างความโกลาหนไม่มากก็น้อย เนื่องจากปริมาณคนที่มาก และเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือการลงทะเบียนดังกล่าว

นายพงศ์พีระ ชูชื่น นายอำเภอเมือง ได้อำนวยความสะดวก ใช้หอประชุม อำเภอเมือง เพื่อลดความแออัด การลงทะเบียนโครงการ เราชนะ แก่ผู้ไม่มี สมาร์ทโฟน ดำเนินการได้ 300 คน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คาด จะเรียบร้อย ไม่เกิน 19 ก.พ.64

น.ส.ณิชากัญจน์ กัลยรัตน์ศิริ คลังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวน 284,808 คน ประชากรที่อายุไม่ถึง 18 ปี จำนวน 62,617 คน ประชากรที่มีประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 7,555 คน ประชากรที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ กลุ่ม 1 ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 84,516 คน กลุ่ม 2 ผู้มีแอพเป๋าตังค์ , โครงการคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน จำนวน 15,102 คน กลุ่มที่ 3 ผู้ลงทะเบียนโครงการเราชนะใหม่ 22,887 คน รวมประชากรที่เข้าร่วม โครงการเราชนะ จำนวน 122,505 คน ร้านค้าธงฟ้าเดิม( มีเครื่อง EDC หรือ แอพถุงเงิน ) จำนวน 618 ร้านค้า ร้านเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง จำนวน 2,219 ร้านค้า ร้านเข้าร่วมโครงการเราชนะ จำนวน 225 ร้านค้า รวมร้านที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ จำนวนทั้งสิ้น 3,062 ร้านค้า ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ล่าสุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

ประชากรในแม่ฮ่องสอนทั้งหมด ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับโครงการเราชนะ เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์มือถือและใช้มือถือสมาร์ทโฟนไม่เป็น และรวมไปถึงอยู่ในพื้นที่บนยอดเขาสูง ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีจำนวนทั้งสิ้น 99,686 คน (ยังไม่ได้รวมกับข้อมูลจากการลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย ที่ดำเนินการแต่ละอำเภอ)

ด้าน ธนาคารกรุงไทย แจ้งเพิ่มเติมว่า ธนาคารได้ดำเนินการจัดระบบการลงทะเบียนโครงการเราชนะ สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และประชาชนที่มาลงทะเบียน โดยให้แต่ละสาขาจัดทำระบบแจกบัตรคิวลงทะเบียนตามจำนวนลูกค้า ที่สาขาสามารถรองรับได้สูงสุดในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 15 ก.พ.2564 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนสำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ต้องยอมรับว่า วางแผนบริหารจัดการได้ยาก เพราะไม่มีข้อมูลว่าประชาชนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าใด และอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง การเตรียมความพร้อมในวันแรก จึงเป็นการประมาณการแบบภาพรวมทั้งประเทศ แต่จากสถานการณ์การเปิดลงทะเบียนในวันแรก ทำให้ธนาคารได้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้การบริการลงทะเบียนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องรีบลงทะเบียน หากคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ได้รับสิทธิทุกคน โดยกระทรวงการคลังได้ขยายเวลาการลงทะเบียน ไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 สามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคาร 1,023 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงจุดบริการพิเศษ จำนวน 871 จุดทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบจุดบริการได้ที่ www.krungthai.com หรือสามารถสอบถามข้อมูลได้ ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการเราชนะที่เบอร์โทรศัพท์ 02-111-1144 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีทีมบริการเคลื่อนที่เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม โดยให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่เข้ามาเสริม เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

ส่วนลูกค้าที่เข้ามาติดต่อลงทะเบียนเกินจากจำนวนนั้น ธนาคารจะแจกบัตรคิวและนัดหมายเพื่อมาลงทะเบียนในวันหลัง โดยสาขาจะกำหนดวันและช่วงเวลาที่แน่นอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ต้องเสียเวลารอนาน และเป็นการลดความเสี่ยง จากการแพร่ระบาดของโควิด การลงทะเบียนสำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ต้องยอมรับว่า วางแผนบริหารจัดการได้ยาก เพราะไม่มีข้อมูลว่าประชาชนกลุ่มนี้ มีจำนวนเท่าใด และอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง การเตรียมความพร้อมในวันแรก จึงเป็นการประมาณการแบบภาพรวมทั้งประเทศ แต่จากสถานการณ์การเปิดลงทะเบียนในวันแรก ทำให้ธนาคารได้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้การบริการลงทะเบียนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น