คณะกรรมการเร่งรัดตรวจติดตาม และประเมินผลโครงการ แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ พื้นที่ อ.เวียงสา อ.นาน้อย

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  จังหวัดน่าน  นายนิวัฒน์  งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  พร้อมด้วยคณะกรรมการเร่งรัด ติดตาม และประเมินผล โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม 76 จังหวัด ในพื้นที่ของจังหวัดน่าน  ตรวจติดตามโครงการของอำเภอเวียงสา พร้อมรับฟังบรรยายสรุป  ก่อนที่จะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ  สำหรับอำเภอเวียงสา ได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการ รวม  11 โครงการ  งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 4,931,800 บาท  เป็นโครงการประเภทขุดลอกฝาย ปรับปรุงซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ขุดลอกเพื่อปรับปรุงและพัฒนากักเก็บน้ำ ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก   ทั้ง 11 โครงการ  โดยจำนวน 7 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 2,378,200 บาท คิดเป็น ร้อยละ 48.22%  คงเหลือ จำนวน 2,471,700 บาท

จากนั้นในช่วงบ่าย คณะกรรมการเร่งรัด ติดตาม และประเมินผล โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม 76 จังหวัด ในพื้นที่ของจังหวัดน่าน  ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำตก อำเภอนาน้อย เพื่อตรวจติดตามโครงการของอำเภอนาน้อย พร้อมรับฟังบรรยายสรุป  และลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า การดำเนินโครงการต่าง ๆ  สำหรับอำเภอนาน้อย ได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการ รวม  50 โครงการ  งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 15,255,600 บาท   เป็นโครงการประเภทขุดลอกฝาย 26 โครงการ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 10 โครงการ ก่อสร้างฝาย 4 โครงการ ขุดขยายสระเก็บน้ำ จำนวน 9 โครงการ และปรับปรุงทำนบเก็บน้ำ จำนวน 1 โครงการ โครงการแล้วเสร็จ จำนวน 24 โครงการ  อยู่ในระหว่างนำเนินการ จำนวน 25 โครงการ และอยู่ในระหว่างดำเนินการขอยกเลิกโครงการ จำนวน 1 โครงการ ซึ่งผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 8,724,700 บาทคิดเป็น ร้อยละ 57.19%  คงเหลือ จำนวน 6,530,900 บาท

สำหรับโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ เนื่องมาจากเกิดการตื้นเขิน มีวัชพืชและตะกอนดินทับถม ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ และส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และระบายน้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนของการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และมีน้ำเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปาของหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค และด้านปศุสัตว์การเลี้ยงสัตว์ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น