เรื่องราว ความเป็นมาของพี่น้องชาวปะโอ / Pa-o ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติ ความเป็นมาของชาวปะโอ Pa-o ชาวปะโอนั้นเดิมทีอาศัยในดินแดนมองโกล มีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาเรื่อยๆ ตามแม่น้ำสาละวิน จนมาตั้งรกรากเป็นปึกแผ่นในดินแดนที่ชาวปะโอเรียกขานว่าดินแดนสุวรรณภูมิ สำหรับชาวปะโอในประเทศไทยอาศัยในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงรายตาก(อ.แม่สอด อ.อุ้มผาง) ส่วนจำนวนประชากรในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนในประเทศพม่านั้นชาวปะโอถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ เป็น 1 ใน 7 กลุ่มใหญ่ ในพม่านั้นมีสถาบันทางการเมือง(พรรคการเมือง)ของตนเอง

มีประวัติการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาวปะโอมากกว่า 1,000 ก่อนคริสตกาล(1,000 BC.) เมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรของชาวปะโอคือเมืองสะทุ้ง / สะถุง(เมืองสะโตง) ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่รัฐมอญ ประชากรของเมืองสะทุ้งที่เป็นชาวปะโอก็ยังมีจำนวนมาก ชาวปะโอที่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐคะยา เขตพะโก พุกาม ตองอู ฯ เรียกว่าชาวปะโอภาคใต้(ปะโอคั่มด่อม) ส่วนที่อยู่ในรัฐฉานตอนใต้ และรัฐคะยาบางส่วนเรียกว่าชาวปะโอภาคเหนือหรือที่ราบสูง(ปะโอคั่มก่อง-ดินแดนแห่งขุนเขา)

ทำไมชาวปะโอมีการกระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆมาก เหตุนั้นเมื่อชาวปะโอแพ้สงคราม อาณาจักรถูกทำลายจึงมีการหนีภัยสงครามไปในพื้นที่ต่างๆ จากศูนย์กลางเมืองสะทุ้ง นับแต่สมัยนั้นชาวปะโอยังไม่สามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ และเพื่อให้ชาวปะโอสามารถรวมกันนำสู่ความเป็นหนึ่งเดียวนั้น ชาวปะโอจึงนำเอาวันประสูติของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวปะโอพระองค์หนึ่งที่มีพระบารมียิ่งใหญ่ เมื่อพระองค์ประสูตินั้นมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และพระองค์สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น พระองค์เป็นพุทธมามกะส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในดินแดนของชาวปะโอ

และเพื่อให้ชาวปะโอรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ให้ชาวปะโอระลึกอยู่เสมอในความเป็นมาที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน มีบรรพบุรุษเดียวกันจึงเอาประสูติของพระองค์เป็นแห่งรวมหมู่ชาวปะโอหรือที่ชาวปะโอเรียกว่าวันแห่งประชาชาติปะโอ (มื่อนีเคอปะโอ) พระมหากษัตริย์ของชาวปะโอพระองค์นี้ชาวปะโอเรียกว่าขุนสุริยะจันตา เพราะวันที่พระองค์ประสูตินั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสี่ ในขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังโผล่พ้นขอบฟ้าทางตะวันออก แต่พระจันทร์ดวงกลมโตก็ยังค้างฟ้าอยู่ด้านทิศตะวันตก จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ยังลอยอยู่บนฟากฟ้า แต่คนละมุมเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสี่หรือในห้วงเวลานั้นชาวปะโอจะจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อการรำลึกถึงบรรพชนที่มีคุณูปการต่อชาวปะโอ (มื่อนีเคอปะโอ แด่นซีหล่าบ่วย – วันเพ็ญเดือนสี่วันแห่งประชาติชาวปะโอ )

ชาวปะโอกับความศรัทธาในพุทธศาสนา บันทึกการมีอยู่ของชาวปะโอในประเทศไทยย้อนหลังไปร้อยกว่าปี ชาวปะโอนั้นเป็นชาวพุทธที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เมื่อไปอยู่ ณ ที่ใดก็จะสร้างพระเจดีย์ สร้างวัด และในประเทศไทยชาวปะโอได้สร้างวัดไว้หลายแห่งเช่นที่ จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่(วัดหนองคำ) อ.เชียงคำ(วัดนันตาราม) จ.พะเยา หรือแม้แต่วัดพระธาตุดอยกองมูก็มีชาวปะโอเป็นเจ้าศรัทธาในการสร้างองค์เจดีย์

ความเชื่อในชาติกำเนิด ความเชื่อในพญานาคของชาวปะโอ ชาวปะโอจะเรียกตัวเองว่าเป็นลูกแม่ของพญานาค เป็นลูกพ่อขุนวิจจา(วิทยาทร) หรือในภาษาปะโอ ” เม่อ นะกา ผ่า วิจ จา / แม่นะกา (พญานาค พ่อวิจจ่ า(วิทยาทร ) “

ร่วมแสดงความคิดเห็น