(มีคลิป) นักวิชาการย้ำฝุ่นมาจากหลายสาเหตุ สภาพภูมิอากาศตัวแปรสำคัญควบคุมไม่ได้นำฝุ่นเข้ามาเสริม ชี้ชัดเชียงรายจุดความร้อนมีน้อยแต่ค่า PM2.5 ยังพุ่ง ระดับพื้นที่แก้ยากต้องร่วมกันแก้ทั้งภูมิภาค

วันที่ 8 มี.ค. 64 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ผศ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงนี้ว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยร่วมทั้งในเรื่องของปัจจัยสภาพภูมิประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่ง ประจบกับปัจจัยในเรื่องของแหล่งกำเนิดที่มีเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และพอพิจารณาร่วมกับปัจจัยของสภาพอากาศแล้ว พบว่า ลมที่เป็นต้นลมที่พัดเข้ามาในพื้นที่นั้นได้สัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิดจำนวนมากตรงนี้ด้วย นอกจากแหล่งกำเนิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่เอง ผลของแหล่งกำเนิดที่เกิดจากพื้นที่โดยรอบ และปัจจัยภูมิประเทศที่เป็นแอ่ง ก็ส่งผลทำให้สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมาของจังหวัดเชียงใหม่มีสถานการณ์ระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนป้องกันตนเอง เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพด้วย

หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการฯ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการดำเนินการป้องกันฝุ่นควัน ไฟป่า หมอกควันที่ต้องแก้ไข ถ้ามองมิติในเรื่องของอากาศ ปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคที่จำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน บางพื้นที่มีจุดความร้อนน้อยอย่างที่จังหวัดเชียงราย แต่ได้รับอิทธิพลของระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 มาก ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนหรือหมอกควันข้ามแดน ซึ่งไม่ใช่ว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว แต่ในพื้นที่ที่เกิดในประเทศของเราเองก็ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันด้วย

“ดังนั้นการแก้ใขปัญหาต้องมองในหลายสเกล เช่น ในระดับพื้นที่ อย่างในจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีแผนบริหารจัดการที่ได้รับการสนับสนุนในทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ในส่วนของปัญหาระดับภูมิภาคซึ่งมีจุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทั้งภูมิภาคตามช่วงเวลาซึ่งสัมพันธ์กับกิจกรรมการใช้ที่ดินในห้วงเวลานี้ ปัญหาระดับภูมิภาคก็อาจจะมองในเรื่องของนโยบายที่จะต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาระดับภูมภาคร่วมกันในหลาย ๆ ประเทศ แต่อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศตอนนี้ที่นับวันยิ่งมีการพูดถึงว่าเป็นปัญหาระดับโลก คงต้องมีเวทีในระดับที่ใหญ่ขึ้นเพื่อร่วมกันในการช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาพรวมของทั้งโลกด้วย” ผศ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น