ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วน เพิ่มความเข้มข้นแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือ เกิดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเต็มกำลัง โดยในส่วนของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพื้นที่จังหวัดในภาคอื่น ๆ ที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ได้กำชับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

ภายใต้มาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” โดยเน้นการบูรณาการแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยในห้วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2564 ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการ

โดยจัดทีมประเมินสถานการณ์ติดตาม และประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน รวมถึงประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล กับศูนย์อำนวยการประสานงานกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือเป็นประจำทุกวันศุกร์ เพื่อชี้เป้าการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประสานจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายและแผน ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือน การป้องกันการเกิดมลพิษที่ต้นทาง

พร้อมกำชับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีพื้นที่ป่าให้ถือปฏิบัติตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” อย่างเคร่งครัด รวมถึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท บูรณาการข้อมูลและใช้เทคโนโลยี เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากไฟป่า โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานสั่งการให้ 17 จังหวัดภาคเหนือ ใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่าผ่านทาง Line chatbot “FiremanTH” ตามแนวทางของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มช่องทางในการบัญชาการดับไฟป่าของผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ รวมถึงยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพ ในการเผชิญเหตุของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ฝ่ายปกครองหน่วยทหาร อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ลงทะเบียน รวม 17,859 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มี.ค.64)

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เพิ่มช่องทางในการแจ้งเหตุสาธารณภัย ผ่าน Official Line “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” พร้อมทั้งประสานให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเหตุไฟป่า การจุดไฟเผาต่าง ๆ เพื่อให้การระงับเหตุเป็นไปอย่างทันท่วงที สนับสนุนทรัพยากรเครื่องจักรกลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง

โดยปฏิบัติการทางอากาศได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ KA – 32 จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าบนภูเขาสูง หน้าผาลาดชัน โดยปฏิบัติการร่วมกับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า และหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ซึ่ง KA-32 ทั้ง 2 ลำ ได้ประจำการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันได้ขึ้นบินดับไฟป่าแล้วจำนวนกว่า 109 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำดับไฟ 327,000 ลิตร ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ KA – 32 จะประจำการอยู่ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูกาล ขณะที่ปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้ระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย
จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังพลรวม 96 นาย และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ประกอบด้วย ยานยนต์ดับเพลิง (Luf60) รถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง 10,000 ลิตร และรถดับไฟป่ารวม 72 คัน กระจายกำลังประจำพื้นที่ ที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เพื่อสนับสนุนการการดับไฟป่า อัคคีภัยในพื้นที่ การฉีดพ่นเพิ่มความชุ่มชื้น ลดฝุ่นละอองในพื้นที่ เป็นต้น

นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปภ.ได้ประสานการปฏิบัติการผ่านกลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและประสานข้อมูลการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงาน นำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์และวางแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติการผ่านระบบ Line Chatbot FiremanTH อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ได้ประสานให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากร ให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถชี้เป้าพื้นที่ปฏิบัติการในเชิงป้องกัน และวางแผนเตรียมความพร้อมเข้าปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดไฟป่า รวมถึงได้ประสานจังหวัดให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทีมประเมินสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยให้ Monitor ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ตามวงรอบ
การรายงานข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ และเสริมประสิทธิภาพการติดตามข้อมูล และการบัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น