สรุปผลสอบ กรณีการฉีดวัคซีนโควิด VIP ที่เชียงใหม่ พบว่า “ไม่เป็นความจริง” ผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน “ไม่มีความผิด”

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีกระบวนการตามขั้นตอน มีคณะกรรมการวางแผน กำหนดกลุ่มเป้าหมายตามแนวทางของประเทศ ผู้เข้ารับวัคซีนวันแรก มีรายชื่อในแผนการฉีดของจังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี น.พ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ จ.เชียงใหม่ แถลงข่าวถึงผลการสอบข้อเท็จจริงกรณี จ.เชียงใหม่ มีการฉีดวัคซีนให้ VIP ก่อนบุคลากรทางการแพทย์ ว่า คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้แสดงความคิดเห็นในเพจดังกล่าว สอบถามความคิดเห็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนครพิงค์ รวม 20 คน อาทิ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ คำชี้แจงของนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สรุปการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีน วันที่ 1 – 2 มีนาคม 2564 รายชื่อผู้ประสงค์ฉีดในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ตารางรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในกลุ่มเป้าหมาย รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารวัคซีนและคณะทำงาน เกณฑ์การแบ่งกลุ่มบุคคลเพื่อเรียงลำดับการรับวัคซีน รายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ประสงค์รับการฉีดวัคซีนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลนครพิงค์ แผนการฉีดวัคซีนของ จ.เชียงใหม่ จำนวน 3,500 โดส

นพ.สมฤกษ์ กล่าวต่อว่า ผลการสอบข้อเท็จจริง ไม่พบผู้ใดที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยไม่อยู่ในรายชื่อในแผนการฉีดในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทุกรายมีรายชื่อตรงตามบัญชีรายชื่อ ที่มีอยู่ในแผนของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ คำว่า VIP ที่ถูกนำไปกล่าวถึง หมายถึงผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานฉีดวัคซีนวันแรกของ จ.เชียงใหม่ เช่น ผู้ว่า/รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการ ตำรวจภูธรภาค 5 ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายชื่ออยู่ในแผนการได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ประชาสัมพันธ์ผู้เกี่ยวข้อง ให้รับรู้และเข้าใจอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งกำชับผู้บริหารให้ดำเนินการตามนโยบายโดยเคร่งครัด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งวัคซีนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของ จ.เชียงใหม่ จำนวน 3,500 โดส คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ ได้พิจารณากระจายวัคซีนตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไปและแรงงาน ในช่วงแรกได้กระจายวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จำนวน 1,450 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งโดยตรงและการออกติดตามควบคุมกำกับในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ด่านตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งตำรวจ/ทหาร พลเรือน เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมสอบสวนโรค ทีมโควิด หมู่บ้าน เป็นต้น และประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง จำนวน 300 คน เช่น ที่ทำการปกครองจังหวัดฯ ตำรวจภูธรจังหวัด ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ กองร้อยอาสารักษาดินแดนกองพลทหารราบที่ 7 กองบิน 41 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว อสม. ฯลฯ โดยมอบหมายให้แต่ละส่วนส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ เพื่อวางแผนนัดหมายการฉีด

ที่มา : สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

ร่วมแสดงความคิดเห็น