เชียงใหม่ ลอบเผาป่าไม่หยุด ป่าไม้เหนื่อย ตรวจป่าพบแหล่งเกิดไฟไหม้ป่ากระจาย

สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 เชียงใหม่ รายงานว่า จากมาตรการควบคุมป้องกันการลักลอบเผาป่า และร่วมมือ
บูรณาการตามโครงการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ประจำปี 2564 ของ จ.เชียงใหม่ อย่างเข้มข้นหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะรายงานของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ และชุดปฏิบัติการ เครือข่ายเฝ้าระวังป่าฯทุกพื้นที่ ก็ยังตรวจพบจุดเกิดความร้อน การเกิดไฟไหม้ป่ากระจายในหลายๆ แหล่งป่า

โดยวานนี้หน่วยฯ นปพ. แม่แตง เจ้าหน้าหน่วยฯ ชม.6 (ปางกว้าง) ได้ร่วมดับไฟตามจุดความร้อนพิกัดท้องที่บ้านสันปูเลย หมู่ 6 ต.แม่แตง อ.แม่แตง สาเหตุหาของป่า พื้นที่เสียหาย 15 ไร่ ท้องที่บ้านทุ่งหลวง หมู่ 1 ต.แม่แตง อ.แม่แตง พื้นที่เสียหายประมาณ 20 ไร่ ได้จัดทำแนวกันไฟและเฝ้าระวังไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่าที่ผ่านๆ มาจะมีมาตรการเกี่ยวกับห้ามการเผาและห้ามเข้าเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไปติดไว้ในที่ชุมชนหมู่บ้าน, ป่าชุมชน และประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึง ก็ยังตรวจพบปัญหาการเผาไหม้ของป่า โดยไม่ทราบสาเหตุและผู้กระทำผิดต่อเนื่อง

ในช่วงเช้าวันที่ 9 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.14 (ห้วยโจ้) หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ดอยหล่อ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ตรวจสอบจุดความร้อนพิกัดท้องที่ป่าบ้านป่าเกี๊ยะนอก ม.5 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง เจ้าหน้าที่ได้ทำเพื่อควบคุมไฟ พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ประมาณ 6 ไร่ ชนิดป่า ป่าดิบเขา สันนิษฐานสาเหตุ เก็บหาของป่า นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อมก๋อยหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.22 (ปางโอ้งโม้ง) พบจุดไฟไหม้บริเวณบ้านยางเปาใต้ หมู่ที่ 2 พื้นที่เสียหายร่วม 5 ไร่ บ้านแม่ระมีดหลวง หมู่ที่ 17 เสียหายกว่า 4 ไร่ บ้านทุ่งจำเริง หมู่ที่ 3 เกิด 2 จุด พื้นที่เสียหายจุดแรกประมาณ 3 ไร่ อีกจุดราวๆ 4 ไร่

ทั้งนี้โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2563 ของกรมป่าไม้ระบุว่า จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าประมาณ
9,586,229 ไร่ หรือร้อยละ 69.29 ของพื้นที่จังหวัด พบพื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอ ยกเว้น อ.สารภี สภาพพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลง เพียง 41,126.98 ไร่ หรือร้อยละ 0.43 ในรอบปีที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุการเผา ทั้งโดยความประมาท ลักลอบ หาของป่า และสาเหตุต่างๆ จนนำไปสู่วิกฤตปัญหาหมอกควันไฟ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปี แม้มาตรการควบคุมป้องกันในพื้นที่จะเข้มข้น เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการเผาป่า แหล่งเกิดไฟทุกพื้นที่เข้มข้น แต่ทว่า ปัญหาการเผาตามพื้นที่ตะเข็บชายแดน มีการควันไฟลอยเข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ก็เป็นอีกสาเหตุ ที่ยากจะควบคุมแก้ไข

ร่วมแสดงความคิดเห็น