องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงาน ของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564

นายจรัลธาดา  กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564

วันนี้ (10 มีนาคม 2564) เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา  กรรองคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2564 ณ ห้องชัยพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

องคมนตรีได้รับฟังความก้าวหน้าการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน โดยในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่  ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำที่สำคัญ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำระบบสมาร์ท ไมโครกริด (Smart MicroGrid) ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะ ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่ โดยนำพลังงานน้ำจากน้ำตกสิริภูมิไปผลิตกระแสไฟฟ้า วัตถุประสงค์หลัก เพื่อรองรับกรณีไฟฟ้าหลักเกิดปัญหา และยังรองรับงานพัฒนาส่งเสริมอาชีพ ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ รวมทั้งผันน้ำไปใช้ในบ่อเลี้ยงปลาเทร้าต์ ปลาสเตอร์เจี้ยน ในหน่วยวิจัยประมงที่สูง  ดอยอินทนนท์อีกด้วย ระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวน 210 กิโลวัตต์  ให้พลังงานไฟฟ้า 1,000,000 กิโลวัตต์ /ชั่วโมง/ปี จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งราษฎรในชุมชน และการพัฒนางานในพื้นที่

นอกจากนี้ องคมนตรียังได้ติดตามความก้าวหน้า การดำเนินความช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน ที่นำรูปแบบและแนวทางโครงการหลวงโมเดล ซึ่งได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ความยากจน รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้เร่งจัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่ตั้งของศูนย์ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร และเป็นจุดถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพ ตามเป้าหมายได้โดยเร็ว และขณะนี้ ได้มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยการคัดเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมต่อการปลูกฟื้นฟูแหล่งอาหาร เน้นขนิดพืชที่เป็นความต้องการของชุมชน พืชที่ใกล้สูญหาย และพืชที่มีศักยภาพในการต่อยอด เพื่อเสริมรายได้แก่ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนพืช 26 ชนิด อาทิ เนียง มะขามป้อม สมอไทย สะตอ เต่าร้าง หวาย ลิงลาว ตองหอม เผือกหอม ที่จะจัดเตรียมต้นกล้าพันธุ์สนับสนุนการจัดทำแปลงตัวอย่างต่อไป

กลยุทธ์สำคัญที่นำสู่ความสำเร็จ ในการสร้างอาชีพของมูลนิธิโครงการหลวง คือ งานวิจัย เพื่อให้การผลิตพืชมีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ มูลนิธิโครงการหลวงจึงมุ่งเน้นงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการ ความจำเป็น การประหยัด สามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดจนเปิดโอกาสแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ ขณะนี้มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งวิจัย เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ ให้เหมาะสมระบบภูมินิเวศบนพื้นที่สูง การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืช/สัตว์ในระบบเกษตรแม่นยำ และ Smart Farm ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดทำ Guide line ชุมชนตามหลัก SDGs และคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชง หรือเฮมพ์ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง มูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พัฒนาพันธุ์กัญชงแล้ว จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ และมีแผนปรับปรุงพันธุ์กัญชง เพื่อให้มีสาร CBD ที่มีสรรพคุณทางยาที่เหมาะสม พัฒนาระบบการปลูกที่เหมาะสม ต่อการใช้ประโยชน์ในการสกัดสาร CBD ตลอดจนศึกษาต้นทุน และความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์ และการแปรรูปกัญชง

ร่วมแสดงความคิดเห็น