โรงพยาบาลสวนปรุง เปิดศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT CENTER) ที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือ

วันที่ 10 มี.ค.64 โรงพยาบาลสวนปรุง จัดพิธีทำบุญและเปิดศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT CENTER) ซึ่งเป็นศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือ โดยมี นพ.สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ผู้แทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธี, ดร.ชินเวศ สารสาส ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวช, นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสวนปรุง ร่วมส่งและรับมอบศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT CENTER)

นพ.สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประกอบด้วย การรักษาด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านจิตสังคม โดยการรักษาด้านร่างกาย แบ่งเป็น การรักษาด้วยการใช้ยาและการรักษาด้วยไฟฟ้า หรือ Electroconvulsive Therapy ซึ่งเป็นการรักษาพื้นฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป ในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง ในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และในโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่มีอันตรายและทรงประสิทธิภาพ โดยศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT CENTER) โรงพยาบาลสวนปรุง จะเป็นศูนย์การรักษาที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือ และการสร้างศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลสวนปรุง โดยมี ดร.ชินเวศ สารสาส ประธานมูลนิธิฯ เป็นผู้นำระดมทุน เพื่อการจัดสร้างจนเสร็จเรียบร้อย

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า โรงพยาบาลสวนปรุง เป็นโรงพยาบาลที่ให้การบำบัดรักษาด้านจิตเวชใน 8 จังหวัดภาคเหนือ การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นหัตถการหนึ่งที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชที่มีอาการรุนแรง เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองหรือผู้อื่น เช่น ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย จึงต้องทำให้อาการทางจิตสงบอย่างรวดเร็ว  หรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการข้างเคียงของยา ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยยาได้อย่างต่อเนื่อง/ไม่สามารถรอการออกฤทธิ์ของยาได้รวดเร็ว รวมทั้งผู้ป่วยที่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยไฟฟ้า ทีมการรักษา ประกอบด้วย จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และวิสัญญีพยาบาล ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การเตรียมร่างกายผู้ป่วย การรักษาและการพักฟื้น โดยวิธีการรักษาจะผ่านกระแสไฟฟ้าจำนวนที่ต้องการ จากเครื่องอีซีทีเข้าสู่สมองในบริเวณที่กำหนดไว้ จะมีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก จากนั้นร่างกายจะมีการผ่อนคลายในที่สุด

การรักษาผู้ป่วยด้วยไฟฟ้ามี 2 แบบ แบบแรก เรียกว่า อันโมดิฟายด์อีซีที (Unmodified ECT) คือการรักษาด้วยไฟฟ้าที่ไม่ใช้ยาสลบ และยาคลายกล้ามเนื้อช่วย ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะยังคงรู้สึกตัว ขณะที่ผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าบริเวณขมับของผู้ป่วย จนมีอาการชักและผ่อนคลายในที่สุด แบบที่สอง เรียกว่า โมดิฟายด์อีซีที (Modified ECT) คือการรักษาด้วยไฟฟ้าที่ใช้วิธีการ

ดมยาสลบและยาคลายกล้ามเนื้อช่วยขณะทำการรักษา ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวก่อนที่จะผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าสมอง และไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการชัก ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเป็นชุด จำนวน 3 ถึง 6 ครั้ง ตามความเหมาะสมของอาการ โดยทำการรักษาวันเว้นวันจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์ การรักษาด้วยไฟฟ้าถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัย และทรงประสิทธิภาพสูงต่อผู้ป่วยจิตเวช มีการใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก และโรงพยาบาลสวนปรุงได้ใช้วิธีการรักษาดังกล่าวตลอดมา ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าเหมาะสมต่อการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยโรงพยาบาลสวนปรุง ที่รักษาด้วยไฟฟ้า เฉลี่ยปีละประมาณเกือบ 1,000 ราย

ศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้าที่จัดสร้างขึ้นนี้ มีพื้นที่ใช้สอย 500 ตารางเมตร แบ่งเป็นห้องรักษาแบบความดันลบ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยทั่วไป จำนวน 33 เตียง แยกเป็น 4 ส่วน คือส่วนเตรียมผู้ป่วย ส่วนการรักษา ส่วนการพักฟื้น และส่วน CPR (การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหยุดหายใจ) โดยการจัดสร้างต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โรงพยาบาลสวนปรุง จึงได้รับมอบทุนทรัพย์ส่วนหนึ่ง จากมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลสวนปรุง โดยมี ดร.ชินเวศ สารสาส เป็นประธาน รวมถึงผู้มีอุปการะคุณหลายท่าน

นพ.กิตต์กวี กล่าวอีกว่า ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT CENTER) โรงพยาบาลสวนปรุง จึงเป็นศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือ ให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน รองรับการรักษาในเขตภาคเหนือ เพื่อประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น