กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะ หลักขับขี่จักรยานยนต์ปลอดภัย

รถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง เนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่สภาพรถไม่ปลอดภัย และปราศจากการหุ้มเกราะ รวมถึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ดังนี้

หลักการตรวจสอบรถให้ปลอดภัย ได้แก่
– กระจกมองหลัง ปรับให้อยู่ในองศาที่มองเห็นด้านหลังได้ชัดเจน
– ยางรถ ไม่บวมหรือปริแตก เติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐาน
– โซ่รถ ขณะรถตั้งอยู่บนขาตั้ง โซ่ต้องหย่อนประมาณ 10 – 20 มิลลิเมตร
– สัญญาณไฟ โดยไฟหน้า ไฟท้าย และไฟเลี้ยว ส่องสว่างอย่างชัดเจน
– ระบบเบรก สามารถหยุดรถได้ในระยะที่ปลอดภัย

หลักการเตรียมตัวให้พร้อม ได้แก่
– สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม เพื่อป้องกันการเกี่ยวซี่ล้อรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
– สวมหมวกนิรภัย รัดสายรัดคางทุกครั้ง ปรับสายรัดคางให้กระชับ เพื่อไม่ให้หมวกหลุดออกจากศีรษะ
– สวมแว่นตากันลม เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแมลงเข้าตาขณะขับขี่
– สวมรองเท้าหุ้มส้น จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณเท้ากรณีเกิดอุบัติเหตุ

หลักการเรียนรู้วิธีการขับขี่ปลอดภัย ได้แก่- ฝึกทักษะขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะท่านั่งขับขี่ วิธีทรงตัวและควบคุมรถ รวมถึงเทคนิคการใช้เบรก
– การใช้ความเร็ว ไม่ขับรถเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็วที่หมวกนิรภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
– เว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถหยุดรถหรือแซงรถได้อย่างปลอดภัย รวมถึงป้องกันอุบัติเหตุจากการเฉี่ยวชน 

– หลีกเลี่ยงการขับขี่เข้าใกล้รถขนาดใหญ่หรือพื้นที่จุดบอด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
– การใช้ช่องทางการเดินรถ โดยขี่รถในช่องทางเดินรถด้านซ้ายหรือช่องทางรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่ขี่รถบนทางเท้าหรือริมไหล่ทาง และไม่ขี่รถย้อนศร
– ลดความเร็วเมื่อขี่รถผ่านจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางที่เปียกลื่น ทางขรุขระ ทางแยก
– การเปลี่ยนช่องทาง ให้สัญญาณไฟล่วงหน้าในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร พร้อมมองกระจกหลัง เมื่อเห็นว่าปลอดภัย
จึงค่อยเปลี่ยนช่องทาง
– ไม่แซงในระยะกระชั้นชิด หรือแซงบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ทางโค้ง ทางแยก บนสะพาน

ทั้งนี้ หากดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ห้ามขับรถจักรยานยนต์อย่างเด็ดขาด เพราะความมึนเมา จะทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ห้ามดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะล้อยาง
กระจกมองข้าง ท่อไอเสีย เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนควบของรถที่ติดตั้งจากโรงงานผู้ผลิตผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจึงมีความปลอดภัยในการใช้งาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น