ปภ.แนะเรียนรู้ – ปฏิบัติตามป้ายจราจร ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

ป้ายจราจร เป็นป้ายที่ใช้สำหรับการควบคุมการจราจรบนเส้นทางต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่เรียนรู้ความหมายของป้ายจราจร และข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1.ป้ายบังคับ เป็นป้ายบังคับให้ผู้ใช้เส้นทางปฏิบัติตามเครื่องหมายในป้าย ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นสีขาวขอบสีแดง ตัวอย่างป้ายบังคับ ได้แก่
– ป้ายห้ามเลี้ยวซ้าย หรือ เลี้ยวขวา โดยจะมีการห้ามเลี้ยวรถไปทางซ้ายหรือทางขวา
– ป้ายห้ามเข้า ห้ามรถเข้าทุกชนิดในเขตติดตั้งป้าย
– ป้ายห้ามหยุดรถ ห้ามหยุดหรือจอดรถทุกชนิดบริเวณแนวที่กำหนด
– ป้ายให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ผู้ขับขี่จะต้องเลี้ยวไปทางซ้ายหรือทางขวา ตามป้ายที่กำหนดเท่านั้น
– ป้ายจำกัดความเร็ว ห้ามขับความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยมีตัวเลขกำกับเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบุจำนวนตัวเลขในป้ายนั้นๆ ในแนวที่ตั้งป้ายจนกว่าจะพ้นระยะ
– ป้ายให้ทาง ผู้ขับขี่จะต้องระมัดระวังและให้ทางแก่รถ หรือคนที่เดินทางเท้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจร จึงขับรถไปต่อ

2.ป้ายเตือน เป็นป้ายที่ใช้เตือนผู้ขับขี่ให้ทราบ ถึงสภาพถนนไว้ล่วงหน้าหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง ส่วนใหญ่
จะเป็นป้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนพื้นขาวเหลืองขอบดำ ตัวอย่างป้ายเตือน ได้แก่
– ป้ายวงเวียน เส้นทางข้างหน้าเป็นทางแยกวงเวียน ควรลดความเร็วและให้รถในวงเวียนให้ผ่านไปก่อน
– ป้ายทางโค้งซ้าย เส้นทางด้านหน้าเป็นทางโค้งซ้าย ให้ลดความเร็วและขับรถชิดซ้ายด้วยความระมัดระวัง
– ป้ายทางคดเคี้ยว เริ่มจากซ้ายทางข้างหน้าเป็นทางคดเคี้ยว โดยเริ่มจากทางซ้ายและลดความเร็วขับรถชิดซ้ายด้วยความระมัดระวัง
– ป้ายโรงเรียนระวังเด็ก เส้นทางข้างหน้ามีโรงเรียนตั้งอยู่ข้างทางควรลดความเร็ว หากเด็กกำลังข้ามถนนให้หยุดรถให้เด็กเดินข้ามไปก่อนโดยปลอดภัย
– ป้ายทางลื่น เส้นทางด้านหน้ามีผิวจราจรลื่น โดยเฉพาะหากฝนตกยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรลดความเร็วและไม่เบรกหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะรถจะลื่นไถลออกนอกเส้นทาง
– ป้ายทางข้ามรถไฟ ไม่มีเครื่องกั้นเส้นทาง โดยเส้นทางข้างหน้า เป็นทางรถไฟตัดผ่านและไม่มีเครื่องกั้นทาง ควรจะหยุดรถ
ให้ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร พร้อมทั้งมองซ้ายมองขวา หากไม่มีรถไฟ ให้ขับผ่านทางได้ แต่ห้ามขับตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด

3.ป้ายแนะนำ เป็นป้ายที่ใช้แนะนำให้ผู้ใช้เส้นทางทราบข้อมูลการเดินทาง สภาพการจราจรระยะทาง ทิศทาง และสถานที่เป็นจุดหมายปลายทาง มีลักษณะป้ายแนะนำจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยป้ายจะแนะนำเส้นทางทางลัด โดยมีพื้นขาวและขอบดำ ตัวอย่างป้ายแนะนำ ได้แก่ ป้ายบอกระยะทาง ป้ายบอกจุดหมายปลายทาง
ป้ายบอกทิศทาง

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรศึกษา เรียนรู้ความหายของเครื่องหมายจราจร และปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งความเร็วอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ร่วมแสดงความคิดเห็น