“เลี้ยงผีไฟ” ภูมิปัญญาในการป้องกันไฟป่า ของชาวปกาเกอะญอ

พื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยพื้นที่สูง และพื้นที่ราบ บนที่สูงส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ แต่ก็มีปกาเกอะญอส่วนหนึ่ง อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบ และมักจะไปมาหาสู่กัน คนพื้นเมืองอยู่เสมอวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่จะอยู่บนภูเขาที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่าหล่อเลี้ยง บรรพบุรุษของชาวปกาเกอะญอ จะพร่ำสอนลูกหลานอยู่เสมอ ถึงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำ และความสมดุลของระบบนิเวศ ทั้งยังถือเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ของชาวปกาเกอะญอ อีกด้วย

ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับป่า และถือเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างมีแบบแผน เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตเมื่อแรกเกิด ชาวปกาเกอะญอจะนำรกของเด็กใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปผูกติดไว้กับต้นไม้ใหญ่ในป่า เพราะถือว่าขวัญและวิญญาณของเด็กนั้น จะสถิตอยู่ในต้นไม้ เมื่อเวลาที่ต้นไม้ถูกตัดก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายขวัญและวิญญาณของเด็กไปด้วย การถือปฏิบัติโดยอาศัยความเชื่อของบรรพบุรุษ เช่นป่าต้องห้าม สถานที่ต้องห้าม ไม้สำหรับคนเป็น ไม้สำหรับคนตาย ข้อห้ามในการล่าสัตว์ หรือแม้แต่ความคิดที่พออยู่พอกิน

สมถะความเพียงพอสันโดษ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิถีที่มีผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม ดังคำสุภาษิตของปกาเกอะญอที่ว่า “เลาะ เหม่ เหม่ ผิ เลาะ ที ที ซิ” หมายถึง กวนไฟไฟดับ กวนน้ำน้ำแห้ง เป็นคำสุภาษิตที่คอยย้ำเตือนให้คนรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ชาวปกาเกอะญอยังมีสุภาษิตอีกบทหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาป่าที่ว่า “เอาะ ที เกอะ ตอ ที เอาะ ก่อ เกอะ ตอ ก่อ” หมายถึงได้กินจากน้ำรักษาน้ำ ได้กินจากป่ารักษาป่า

กฏเกณฑ์การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้ถูกกำหนดเข้าไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ในรูปแบบของความเชื่อ มีการสืบทอดโดยการปฏิบัติ หรือแสดงออกตามพิธีกรรมต่างๆในรอบปี เช่นพิธีหลื่อ เหม่โต หรือการเลี้ยงผีไฟ ถือเป็นความเชื่อหนึ่ง ที่ชาวปกาเกอะญอจะต้องถือปฏิบัติทุกครั้ง เมื่อเวลาจะทำแนวกันไฟ การจัดการไฟ หรือ การป้องกันไฟไหม้ป่า ชุมชนปกาเกอะญอ ถือว่าเป็นหัวใจของการจัดการทรัพยากร ซึ่งชาวปกาเกอะญอมักมีคำกล่าวว่า ข้ามน้ำข้ามตรงที่ราบและตื้น ดับไฟดับตรงภูมิประเทศที่ง่ายต่อการควบคุมไฟได้

แต่เดิมชาวปกาเกอะญอจะทำพิธีดับไฟป่าแต่เพียงเฉพาะในไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเท่านั้น จนปัจจุบันปัญหาไฟป่าจากป่าข้างล่างได้ลุกลามขึ้นไปยังบนดอย ทำให้ชาวปกาเกอะญอต้องประสบปัญหา ในการดับไฟป่าเพียงลำพังทุกปี ซึ่งปัญหาไฟป่าดังกล่าวจะต้องหาทางแก้ไข โดยการร่วมมือกันระหว่างคนบนดอยกับคนพื้นราบ และอาศัยพิธีหลื่อ เหม่โตเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของความสามัคคีในการทำแนวกันไฟ พิธีหลื่อ เหม่โตที่ชาวปกาเกอะญอจัดขึ้น เป็นพิธีขอขมาต่อฟ้าดิน ระบบนิเวศเพื่อขอให้คนในชุมชน พร้อมทั้งสัตว์เลี้ยงและทรัพย์สิน ให้ได้รับการคุ้มครองดูแล ให้เกิดความร่มเย็น อย่าได้กระทบจากการใช้ไฟ

การประกอบพิธีหลื่อ เหม่โต ของชาวปกาเกอะญอ มีการสร้างศาลสำหรับเทพ ซึ่งภายในจะมีดอกไม้ธูปเทียนเพื่อสักการะเทพเจ้าของพวกเขา ในส่วนของเครื่องเซ่นที่ใช้ประกอบพิธีมี ไก่ 2 ตัว คือตัวเมีย 1 ตัวตัวผู้ 1 ตัว,ไม้ที่เคยถูกไฟไหม้,ตอกที่สานเป็นรูปลูกโซ่ 4 เส้น,เทียนขี้ผึ้ง,เหล้าต้มเพื่อประกอบพิธีกรรม 1 หม้อ และข้าวตอกดอกไม้หมากพลู พิธีเริ่มในช่วงเช้าโดยมีพอตีหรือผู้อาวุโส ประจำหมู่บ้าน 3 คน คือพอตีคาลอย พอตีหวาย และพอตีเก๊ะเละ เป็นผู้ประกอบพิธี พอตีทั้งสามคนจะพูดเป็นภาษากะเหรี่ยง เพื่อรำพรรณให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครองอันตรายจากไฟป่า

หลังจากนั้นจึงฆ่าไก่เพื่อเซ่นสังเวย โดยจะนำเลือดของไก่ไปป้ายที่บริเวณเสาทุกเสาของศาล แล้วถอดขนไก่มาแปะไว้ที่รอยเลือด จากนั้นจึงนำไก่ที่ฆ่ามาต้ม เพื่อประกอบอาหารเลี้ยงในพิธี ซึ่งในระหว่างที่ทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่ มีการจุดธูปเทียนเพื่อบอกกล่าวให้เจ้าที่รับรู้ จากนั้นชาวบ้านที่ร่วมประกอบพิธี จะนั่งล้อมวงรับประทานเครื่องเซ่นไหว้นั้น ส่วนชาวบ้านที่เหลือก็จะพากันทำแนวกันไฟ โดยการเก็บกวาดเศษใบไม้แห้ง

พิธีหลื่อ เหม่โต หรือพิธีเลี้ยงผีไฟของชาวปกาเกอะญอ ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านเชื่อและศรัทธาเป็นอย่างมาก พิธีนี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อแล้ว ลึกลงไปกว่านั้น พิธีนี้ยังเป็นการป้องกันและการจัดการรักษาทรัพยากรธรรมชาติในป่าอีกทางหนึ่งด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น