ประตูเมืองเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และการท่องเที่ยว ep.1

ส่วนที่ 1 เมืองเชียงใหม่กับการสร้างประตูเมือง

นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”  ชื่อของเมืองที่มีอายุมากกว่า 700 ปี มีพญามังรายเป็นผู้สถาปนาขึ้น เมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นเมืองที่อยู่ในยุคเดียวกันกับเมืองสุโขทัย เมืองพะเยา และอีกหลาย ๆ เมือง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการทูต และทางการเมืองกับเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1839 ตามศิลาจารึกวัดเชียงมั่นระบุว่า “…ศักราช 658 ปีระวายสัน เดือนวิสาข ออก 8 ค่ำ วัน 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูกนาที ปลายสองบาทน้ำ ลัคนาเสวยนวางศ์ พฤหัสในมีนยราศี…” ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 19 เมษายน จ.ศ.658 เวลา 04.00 น. (เดิมคำนวณเป็นวันที่ 12 เมษายน) โดยพญามังราย เป็นผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในชื่อ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ทั้งนี้พญามังรายได้เชิญพญางำเมืองและพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) มาร่วมกันวางผังเมือง จึงทำให้ผังเมืองเชียงใหม่เป็นสี่เหลี่ยมมีคูน้ำล้อมรอบแบบเมืองสุโขทัย

ในการตั้งเมืองเชียงใหม่มีภูมิศาสตร์ในการตั้งเมืองที่เรียกว่า “หันหลังให้เขา หันหน้าให้น้ำ” ซึ่งหมายถึงด้านหลังของเมืองมีภูเขาคือ ดอยสุเทพ ด้านหน้ามีแม่น้ำคือ แม่น้ำปิง ทั้งสองสิ่งนี้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจิตใจของชาวเชียงใหม่ และการวางผังเมืองเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองมาจากสุโขทัย เนื่องจากผังเมืองเชียงใหม่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมแบบผังเมืองสุโขทัย และมีคูน้ำล้อมรอบกำแพงเมือง ซึ่งไม่ปรากฏในผังเมืองโบราณ เช่น เมืองหริภุญไชย หรือเมืองเขลางค์นคร ที่ผังเมืองจะเป็นไปตามแนวภูมิศาสตร์ธรรมชาติ การกำหนดผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของเมืองเชียงใหม่ด้วย และถือเป็นรัฐแรกของรัฐหุบเขาที่มีพัฒนาการทางการวางผังเมือง

แรกเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่มี 4 สิ่ง ที่ถูกสร้างพร้อมกันหรือในฤกษ์เวลาพร้อมกัน คือ แจ่งเมือง กาดกลางเวียง เวียงแก้วหรือหอคำ และประตูเมืองจะเห็นว่าประตูเมืองเชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 4 สิ่ง ที่พญามังรายทรงโปรดให้สร้างขึ้นตั้งแต่แรกของการสร้างเมือง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประตูเมือง ที่จำเป็นต้องสร้างตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่

การสร้างประตูเมืองในยุคแรกเป็นประตูอิฐเพื่อความแข็งแรงของการใช้งาน ส่วนกำแพงแต่เดิมเป็นกำแพงดินแบบสุโขทัย ที่มีคูน้ำล้อมรอบเมือง เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีปืนใหญ่ในการสงคราม และอาวุธที่ใช้เป็นจำพวกหอก ดาบ กำแพงเมืองจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเป็นอิฐ ส่วนกำแพงเมืองที่เป็นอิฐสันนิษฐานว่าสร้างอย่างน้อยในสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ.2057-2059 เนื่องจากมีการใช้ปืนใหญ่ในสงครามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำกำแพงเมืองให้แข็งแรง จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นอิฐแทนกำแพงดินตามแนวเดิม

ประตูเมืองเชียงใหม่ทั้ง 5 ประตู ตั้งอยู่ทางทิศทั้ง 4 ทิศของเมือง กล่าวคือ ทิศเหนือมีประตูหัวเวียง เนื่องจากตั้งอยู่ในทิศที่เป็นด้านหัวเวียงเชียงใหม่ และเป็นประตูที่สำคัญที่สุด ทิศตะวันออกมีประตูเชียงเรือก เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นที่เพาะปลูกข้าวและท่าจอดเรือ ทิศใต้หรือทางท้ายเวียงมีประตูเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นประตูที่ผู้คนทางเมืองใต้จะต้องผ่านประตูนี้เพื่อเข้าสู่เวียงเชียงใหม่ ประตูแสนปุง หรือ สวนปุง เป็นประตูที่ใช้สำคัญนำศพออกจากเมืองเชียงใหม่ และทางทิศตะวันตกมีประตูสวนดอกสำหรับออกไปยังวัดสวนดอก และดอยสุเทพ

การสร้างประตูเมืองเชียงใหม่มีการทำเป็นประตูเป็นสองชั้นเหลื่อมกัน ซึ่งปรากฏหลักฐานในภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 และในนิราศหริภุญชัยที่กล่าวถึงประตูเมืองเชียงใหม่ที่มีสองชั้น โดยการสร้างประตูเมืองสองชั้นเหลื่อมกันสันนิษฐานได้ว่าเพื่อป้องกันการยิงปืนใหญ่เข้ามาทางประตูเมือง จะทำให้สถานที่สำคัญภายในเวียงได้รับความเสียหาย และอีกประการหนึ่งตามความเชื่อว่าถ้าประตูตรงกันจะเป็นทางผ่านของสิ่งที่ไม่ดีที่จะเข้าสู่ภายในเวียงเชียงใหม่ได้

นอกจากการสร้างประตูเมืองทั้ง 5 ประตู ประจำทั้ง 4 ทิศแล้ว บริเวณหัวเวียงมีการสร้างรูปปั้นช้าง และสิงห์อยู่ในบริเวณใกล้กับประตูหัวเวียง ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นประตูช้างเผือกในสมัยพญาแสนเมืองมา ประตูหัวเวียงประตูที่ใช้เป็นประตูสำหรับกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ คือผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ของเชียงใหม่ ในพิธีอุสสาราชาภิเสก(พิธีบรมราชภิเษก) จะต้องเสด็จเข้าเวียงเชียงใหม่ด้วยประตูนี้เท่านั้น ด้วยถือว่าเป็นประตูประจำทิศที่เป็นเดชของเมือง (เดช หมายถึงความมีอำนาจหรือการเป็นที่เคารพยำเกรง) ก่อนที่จะเข้าไปประกอบพิธีในหอคำต่อไป

ประตูช้างเผือก

ส่วนประตูเชียงเรือกต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นประตูท่าแพ เนื่องจากเป็นชื่อเรียกให้สอดคล้องกับประตูท่าแพชั้นนอกที่อยู่บริเวณประตูดินและอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน ที่เรียกว่า “ประตูท่าแพชั้นนอก” อันเป็นทางเข้ามาของผู้คนที่จอดเรือบริเวณแม่น้ำปิง ส่วนประตูเชียงเรือกจึงถูกเรียกว่า “ประตูท่าแพชั้นใน” จนเมื่อประตูท่าแพชั้นนอกถูกรื้อออกไป จึงทำให้ประตูท่าแพชั้นใน มีชื่อเรียกเหลือเพียง “ประตูท่าแพ” มาจนถึงปัจจุบัน

ประตูท่าแพ

ประตูเชียงใหม่เป็นประตูที่ไม่ปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อ ชื่อเรียกประตูว่า “ประตูเชียงใหม่” สืบเนื่องมาจากเป็นประตูสำหรับทางเข้าเมืองของชาวเมืองที่มาจากทางใต้ เช่น ลำพูน ลำปาง อีกทั้งเมืองเหล่านี้มีประตูเมืองที่ชื่อว่าประตูเชียงใหม่ เพื่อใช้เดินทางออกจากเมืองเพื่อมายังเมืองเชียงใหม่ หรือเมืองหงสาวดีก็มีชื่อประตูซิมเหม่ (แปลว่าเชียงใหม่) สำหรับใช้เดินทางมายังเมืองเชียงใหม่

ประตูเชียงใหม่

ประตูแสนปุง เป็นประตูที่อยู่ใกล้กับประตูเชียงใหม่ ชื่อแสนปุง หรือสวนปุง มาจากเป็นบริเวณที่ใกล้กับหมู่บ้านช่างทำโลหะ หรือช่างหล่อพระ ประตูนี้คาดว่าสร้างขึ้นภายหลังประตูอื่น ๆ เนื่องจากเป็นประตูที่ใช้สำหรับการเคลื่อนศพออกจากเวียงเชียงใหม่ ทิศของประตูตั้งอยู่ในทิศกาลกิณีของเมือง (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ด้วยคนล้านนามีเชื่อว่าการเผาศพ หรือการฝังศพในเวียงเชียงใหม่จะทำให้เกิด “ขึด” ภายในเวียงเชียงใหม่ จึงทำให้ต้องนำศพออกไปประกอบพิธีนอกเวียงเชียงใหม่ แม้แต่ศพของกษัตริย์หรือเจ้านายเชียงใหม่ก็ต้องนำออกไปนอกเวียงเชียงใหม่ และยังคงสืบทอดความเชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบันด้วย

ประตูแสนปุง

ประตูสวนดอกเป็นประตูที่อยู่ทางทิศตะวันตก สร้างขึ้นในสมัยของพญากือนาเพื่อเป็นทางออกไปยังอุทยาน ต่อมาได้มีการสร้างวัดสวนดอกขึ้นบริเวณอุทยานหลวงหรือเวียงสวนดอก และยังเป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางไปยังดอยผีขุนน้ำหรือดอยสุเทพ

ประตูสวนดอก

สำหรับประตูเมืองเชียงใหม่มีกำหนดเปิดและปิดประตูในเวลาย่ำรุ่งและย่ำค่ำ หรือเวลาเปิดประมาณ 6 โมงเช้า และปิดในเวลา 6 โมงเย็นถ้าหากใครที่เข้าเวียงไม่ทันเวลาปิดประตูก็จะต้องอยู่ที่ศาลาพักบริเวณประตูแล้วเข้าเวียงเชียงใหม่ในเวลาย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง แม้แต่กษัตริย์เองก็จำเป็นต้องอยู่นอกเวียงจึงปรากฏเป็นคุ้มที่นอกกำแพงเวียง

ประตูเมืองทุกประตูจะมีการกัลปนาตำแหน่งคนเฝ้าประตูหรือทวารบาล สำหรับทำหน้าที่รักษาประตู และสืบทอดตำแหน่งผ่านทางสายตระกูล อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันข้าศึกเวลามีศึกสงคราม โดยจะทำการรักษาประตูของตนเอง นอกจากนี้ทุกประตูจะมีอาวุธประจำประตูที่นายทวารบาลต้องดูแลรักษา

นอกจากประตูเมืองที่ถูกสร้างในฤกษ์ของการสร้างเมืองแล้วแจ่ง (มุม) ของเมืองก็ถูกสร้างในฤกษ์เดียวกันด้วย โดยแจ่งแรกที่ถูกสร้างคือ “แจ่งศรีภูมิ” เป็นแจ่งที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นแจ่งที่ขุดขึ้นแจ่งแรก และอยู่ในทิศที่เป็น “ศรี” แก่เมืองตามหลักทักษา (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) แจ่งศรีภูมิจริงเปรียบเสมือนศรีษะของเมืองเชียงใหม่

แจ่งศรีภูมิ

แจ่งหัวลิน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นแจ่งที่สูงที่สุดในบรรดาแจ่งทั้งหมด เนื่องจากเป็นจุดแรกของการรับน้ำที่มาจากห้วยแก้วเชิงดอยสุเทพก่อนที่จะผันน้ำไปยังแจ่งอื่น ๆ ตามคูเมือง และส่วนต่าง ๆ ของเมืองเชียงใหม่ การวางระบบชลประทานแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัยที่ผันน้ำจากสรีดภงส์มายังตัวเมืองสุโขทัย

แจ่งหัวลิน

แจ่งกู่เฮือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าเป็นทิศกาลกิณีของเมืองเชียงใหม่ แจ่งกู่เฮืองอยู่ใกล้กับบริเวณที่เป็นที่กักขังนักโทษ มีหมื่นเรืองหรืออ้ายเรืองเป็นหัวหน้าผู้คุมนักโทษ และสืบทอดการเป็นหัวหน้าผู้คุมนักโทษผ่านทางสายตระกูล แจ่งกู่เฮืองจึงถูกเรียกตามกู่ (ที่เก็บอัฐิ) ของอ้ายเฮืองที่อยู่บริเวณนั้น

แจ่งกู่เฮือง

แจ่งกะต๊ำ เป็นแจ่งที่ต่ำที่สุดจึงทำให้มีปลาชุกชุม (กะต๊ำหรือขะต๊ำ เป็นอุปกรณ์หาปลาชนิดหนึ่ง) จึงทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่นิยมมาหาปลากันที่บริเวณนี้

แจ่งกะต๊ำ

ประตูเมืองเชียงใหม่ กำแพงเมือง ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยราชวงศ์เจ็ดตน ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ.2478 และในปี พ.ศ.2491 ประตูเมืองเชียงใหม่ และกำแพงเวียงเชียงใหม่ถูกรื้อออกเนื่องจากความทรุดโทรมคงเหลือแต่แจ่งทั้ง 4 ไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างทางผังเมืองใหม่ อีกทั้งกำแพงเมืองและประตูเมืองยังบดบังทัศนียภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเวียงเชียงใหม่

ประตูเมืองเชียงใหม่ กำแพงเมืองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด สังเกตได้จากขนาดของความกว้างของประตูที่อยู่ขนาบข้างกับถนน ทำให้ถนนผ่ากลางประตูทั้ง 4 ประตู ยกเว้นประตูท่าแพที่ไม่มีถนนผ่ากลางประตู และยังคงมีความใกล้เคียงกับการเป็นประตูเมืองแบบดั่งเดิม

ประตูเมืองเชียงใหม่ และแจ่ง ถูกสร้างขึ้นพร้อม ๆ กันกับการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประตูเมือง และแจ่ง การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของประตูเมืองตามหลักของทักษาก็ทำให้เข้าใจถึงการใช้ประโยชน์จากประตูเมือง ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมที่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏ ตลอดทั้งความรู้ความเข้าใจที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ของเวียงเชียงใหม่ ผ่านหลักฐานที่เป็นรูปธรรมอย่างประตูเมือง ถึงแม้ประตูเมืองในปัจจุบันจะถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ก็ยังแสดงให้ทราบถึงขอบเขตหรืออาณาบริเวณที่เรียกว่าเวียงเชียงใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว

ข้อมูลอ้างอิง

ภูเดช แสนสา. คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว สัญญะขัติยะล้านนา. เชียงใหม่: แม็กพริ้นติ้ง, 2556.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558.

ร่วมแสดงความคิดเห็น