ประตูเมืองเชียงใหม่: ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เเละการท่องเที่ยว EP.2 5 ประตู 4 ทิศ กับกับความเชื่อของประตูเมืองเชียงใหม่

เริ่มตั้งแต่การสร้างเมืองเชียงใหม่ที่มีการกำหนดเวลาหรือฤกษ์ในการสร้าง ที่ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 19 เมษายน พ.ศ.1839 เวลา 04.00 น. การกำหนดวันและเวลารวมไปถึงชัยภูมิในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ล้วนแต่อยู่ภายใต้ระบบความคิดที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทั้งสิ้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประตูเมืองก็ถูกจัดวางหรือถูกสร้างภายใต้ระบบคติของความเชื่อด้วยเช่นเดียวกัน

 ประตูเมืองเป็นหนึ่งใน 4 สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่แรกสถาปนาเมืองเชียงใหม่ นอกจากจะมีความสำคัญในด้านการใช้ประโยชน์แล้ว ประตูเมืองที่วางอยู่ในทิศทั้ง 4 ของเมือง ก็ยังเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อตามหลักทักษาของเมือง และจินตภาพที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เปรียบเสมือนคนที่มีชีวิต

 ตามหลักของทักษาแล้วเมืองเชียงใหม่ที่ได้รับการสถาปนา(เกิด)ในวันพฤหัสบดี ซึ่งทิศประจำวันคือทิศตะวันตก มีทักษาเป็นบริวาร เมื่อนับทิศตามเข็มนาฬิกาจะได้ว่า ทิศตะวันตก(บริวาร) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(อายุ) ทิศเหนือ(เดช) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(ศรี) ทิศตะวันออก(มูละ) ทิศตะวันออกเฉียงใต้(อุตสาหะ) ทิศใต้(มนตรี) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (กาลกิณี)

ทักษาเมืองเชียงใหม่

เมื่อนำตำแหน่งของประตูเมืองทั้ง 5 ประตู มาจัดวางลงตามทักษา จะพบว่าประตูหัวเวียงเป็นประตูที่อยู่ทางด้านทิศเหนือซึ่งเป็นตำแหน่งของเดช (ความมีอำนาจ) ผู้ที่จะปกครองเชียงใหม่จึงต้องเข้าประตูนี้เพื่อเข้าไปประกอบพิธีอุสสาราชาภิเสกภายในเวียงเชียงใหม่ ประตูเชียงเรือกอยู่ทางทิศตะวันออก อยู่ในตำแหน่งของมูละ(ทรัพย์สินหรือการค้าขาย) ประสวนดอกอยู่ทิศตะวันออกตำแหน่งของบริวาร(คนในปกครองหรือมิตร) ทางทิศใต้ที่มี 2 ประตู คือประตูเชียงใหม่ และประตูแสนปุง ถ้าดูจากภาพมุมสูงจะพบว่าประตูทั้งสองมิได้อยู่ในทิศใต้โดยตรง แต่ค่อนข้างเยื้องออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประตูแสนปุงที่ค่อนข้างเยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และใกล้กับแจ่งกู่เฮืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นทิศกาลกิณี(ความอัปมงคล) ของเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้จึงเป็นทิศที่ใช้นำศพออกจากเมืองและเป็นที่คุมขังนักโทษในบริเวณนี้ ส่วนประตูเชียงใหม่อยู่ในตำแหน่งของมนตรี (การอุปถัมภ์)

ผังเมืองเชียงใหม่

          ประตูเมืองถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับทักษาของเมืองและบางประตูมีการกำหนดหน้าที่เฉพาะ เช่น ประตูหัวเวียง และประตูแสนปุง เป็นต้น หลักความเชื่อในส่วนนี้จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างการเข้าประตูหัวเวียงของกษัตริย์ก่อนจะทำพิธีอุสสาราชาภิเสก หรือการนำศพออกจากเวียงทางด้านประตูแสนปุง เพราะถือกันว่าจะไม่เผาศพหรือฝังศพภายในเวียงเด็ดขาด

ประตูเเสนปุง

นอกจากความสัมพันธ์ของการจัดวางประตูตามหลักทักษาเมืองแล้ว ประตูเวียงเชียงใหม่ทุกประตูจะมีเทวดาประจำอยู่ทุกทิศ(คล้ายกับท้าวจตุมหาราชิกา) คือ  สุรักขิโต ประจำทิศตะวันออก(ประตูเชียงเรือก) ไชยภุมโม ประจำด้านทิศทิศใต้ (ประตูเชียงใหม่และประตูแสนปุง) สุรขาโต ประจำทิศตะวันตก (ประตูสวนดอก) และคันธรักขิโต ประจำทิศเหนือ (ประตูหัวเวียง)

เสาอินทขิล(เสาที่พระอินทร์ประทานให้)นอกจากเสาอินทขิลที่วัดเจดีย์หลวงแล้ว ยังปรากฏคู่กับประตูเมืองทุกประตู และจะมีจำนวน 2 เสาทุกประตู เสาอินทขิลแต่ละเสาจะมีการสลักยันต์และคาถาประจำเสาไว้ รวมทั้งหมด 10 เสา 10ยันต์ 10 คาถา ที่แตกต่างกัน อีกทั้งการสลักยันต์หรือคาถาประจำเสาอินทขิลยังเป็นการแกะสลักแบบกลับด้านเพื่อป้องกันการทำคุณไสยกับเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเสาอินทขิลก็ยังคงมีอยู่คู่กับประตูเมืองเชียงใหม่ ยกเว้นประตูท่าแพ

เสาอินทขิลประจำประตูเมือง

เมืองเชียงใหม่ถูกสร้างภายใต้จินตภาพของการเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต จึงจำเป็นต้องมีร่างกายและจิตใจ ร่างกายคือส่วนที่เป็นสิ่งก่อสร้าง ในบริเวณต่างๆ เริ่มตั้งแต่ศรีษะ ลำตัว และเท้า ส่วนจิตวิญญาณตั้งแต่เริ่มแรกสร้างเมืองเชียงใหม่จะมีการอัญเชิญเทวดามาประจำประตู แจ่ง และเวียงแก้วหรือหอคำตั้งแต่สร้าง สังเกตว่าทุกปีจะมีพิธีพลีกรรมทุกปี เพื่อเป็นการบำรุงขวัญเมือง ทำให้เทพที่รักษาเมืองทุกทิศพึงพอใจ จะได้รักษาเมืองและป้องกันอาเพศต่างๆ ให้กับเมือง

          สำหรับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับประตูเมืองนอกจากประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการอุสสาราชาภิเสก และความเชื่อเรื่องความตายแล้ว ประเพณีการสืบชะตาเมืองที่ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ประตูเมืองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ จำเป็นต้องทำการสืบชะตาด้วยนอกจากการเลี้ยงสะดือเมือง และอินทขิลแล้ว จะต้องมีการสืบชะตาประตูเมืองทุกประตู และแจ่งทุกแจ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 28 จุด ของการสืบชะตาเมือง ซึ่งแต่เดิมจะมีขุนนางรับผิดชอบการพลีกรรมในทุกจุด ปัจจุบันมอบหมายให้ชุมชนใกล้เคียงรับผิดชอบแทน

ต้นยาง เสาอิทขิล เเละเจดีย์หลวง สัญลักษณ์ศูนย์กลางจักรวาลของล้านนา

          การเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุติของวัดเจดีย์หลวง ทำให้ประเพณีบางอย่างของการสืบชะตาเมืองถูกขับออกมา นอกวัด เช่น การทรงเจ้า หรือการสังเวยด้วยการฆ่าควาย ฆ่าหมู ทำให้บทบาทของแจ่งเมืองและประตูเมืองกลายมาเป็นสถานที่ของการจัดพิธีกรรมดังกล่าว ส่วนการบูชาเสาอินทขีลภายในวัดเจดีย์หลวงถูกเปลี่ยนเป็นประเพณีการใส่ขันดอกแทน

          ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประตูเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่แล้วถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งอดีต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางบริบทสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก็ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประตูเมืองในบางเรื่อง แต่ถึงกระนั้นความเชื่อที่ยังคงอยู่ก็แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมความเชื่อ และภูมิปัญญาทางความคิดของชาวเชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ ภูเดช เเสนสา, เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564.

ภูเดช แสนสา. คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว สัญญะขัติยะล้านนา. เชียงใหม่: แม็กพริ้นติ้ง, 2556.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558.

ร่วมแสดงความคิดเห็น