กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5เกินค่ามาตรฐาน แนะแนวทางจัดห้องปลอดฝุ่นสำหรับศูนย์เด็กเล็ก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าอยู่ในระดับเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) และพบค่า PM2.5 สูงสุดที่ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีค่าเท่ากับ 205 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ตั้งแต่ที่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศสะอาด ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จาก PM 2.5 และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพื่อให้เด็กสัมผัสฝุ่นละอองให้น้อยที่สุด ทั้งการลดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ฝุ่นสูง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่ถูกต้อง การจัดห้องปลอดฝุ่นสำหรับเด็กเล็ก และงดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น ทั้งการเผากลางแจ้ง การจุดธูป จอดรถติดเครื่องทิ้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์เด็กเล็กหรือบ้านเรือน ควรจัดทำห้องปลอดฝุ่นและ ให้เด็กอยู่ในห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง ไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น จุดเทียน จุดธูป หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด และไม่มีสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตาที่มีขน เป็นต้น ในช่วงที่ฝุ่นสูงให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และสามารถเพิ่มอุปกรณ์ในการลดปริมาณฝุ่นภายในห้อง เช่น เครื่องฟอกอากาศได้ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงจำนวนของเด็กที่เข้ามาพักภายในห้องให้เหมาะสม ไม่ให้แออัดจนเกินไป และควรเปิดประตูเพื่อระบายความร้อนและระบายอากาศในช่วงที่ฝุ่นละอองลดลง

​“พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจ มีเสียงวี้ด หรือแสบจมูก ให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรตรวจเช็คค่าฝุ่น และติดตามข่าวสารก่อนออกจากบ้าน และควรให้เด็กเลี่ยงการออกนอกบ้าน หรือกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน และหากต้องออกนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม และไม่ควรอยู่นอกบ้าน เป็นเวลานาน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น