ชาวบ้านที่เชียงของ ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง กระทบวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

วันที่ 14 มีนาคม 2564 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมชาวบ้านลุ่มน้ำของ และลุ่มแม่น้ำอิง ผู้ปกครองเยาวชน ร่วมแสดงสัญลักษณ์วันเขื่อนโลก 14 มีนาคม วันหยุดเขื่อนโลก วันของการต่อสู้ เรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่ประสบวิกฤติอย่างรุนแรงในปีนี้ โดยได้ร่วมกันชูป้ายต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง บริเวณแก่งผาเยีย กลางแม่น้ำโขง บริเวณคอนผีหลง บ้านเมืองกาญจน์ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงข้ามผาพระ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

 

นายนิวัฒน์กล่าวว่า เพื่อให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนแม่น้ำโลกขณะนี้เป็นการทำลายวิถีชีวิต พีน้องชาวบ้าน ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งตอนเหนือหรือทางตอนล่างจนไปถึงเวียดนาม เพราะฉะนั้น คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะมาช่วยกันคิดรับมือแม่น้ำโขง เพราะว่าถ้าทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแล้ว แม่น้ำโขงก็จะไม่เหลืออะไร คนลุ่มน้ำโขง 60-70 ล้านคนก็จะต้องเดือดร้อน ฉะนั้นรัฐหรือทุนต้องพิจารณาเรื่องแม่น้ำโขง ให้ถ่องแท้เพื่อชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงที่ต้องอยู่ไปในภายภาคหน้าอีกชั่วลูกชั่วหลาน

“แม่น้ำโขงขณะนี้ ณ เวลานี้ คิดว่ามันเป็นวิกฤติแล้ว ผลกระทบมันสั่งสมขึ้นมาเรื่อย ๆ มีการสร้างเขื่อน 11 แห่งข้างบนทางตอนใต้ของจีน แล้วมาเพิ่มอีกสองเขื่อนข้างล่าง คือไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง และมีแผนจะสร้างอีก อันคือสิ่งที่น่ากลัวมาก สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ เขื่อนพวกนี้ทำให้น้ำมีปัญหา การขึ้นลงของน้ำผันผวนอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ ชีวิตแม่น้ำโขงจะถึงกาลอวสาน เพราะตะกอนแม่น้ำโขงมันหายไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเมื่อตะกอนหายไปแล้วก็ทำในสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงจะลดลงอย่างหนัก” นายนิวัฒน์ กล่าว

 

 

นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในขณะนี้คิดว่าองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เขาก็เห็นปัญหา เพราะทุกอย่างมันชัดเจนหมดแล้ว เช่นน้ำเป็นสีฟ้าครามนี่รู้เลยว่าน้ำหิวตะกอน ซึ่งจะกัดเซาะ และการขึ้นลงไปปกติก็มีผลทำให้ตลิ่งพัง หน้าดินที่มากับน้ำหายไปการเพราะปลูกริมแม่น้ำก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะนักวิชาการมากมายออกมาพูด นักวิชาการประมงก็ออกมาพูดเรื่องปลาก็จะลดลง ที่จะทำให้ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ เนื่องจากระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดฤดูกาลกระทบต่อการวางไข่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะพี่น้องอิสานจะเดือดร้อนทำให้น้ำแห้ง และเมื่อน้ำใสคนเกิดความโลภก็ดำลงไปยิงบ้างระเบิดปลาบ้าง ยิ่งทำให้ปลาลดลงไป จากเดิมที่มีเขื่อนเห็นได้ชัดว่าปริมาณและชนิดปลาก็ลดลงไปอยู่แล้ว ยิ่งทางตอนล่างของแม่น้ำโขงชนิดพันธุ์ปลามีมากขึ้นมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระทบมาก ปัญหาใหญ่คือทุกคนต้องการประโยชน์แม่น้ำโขง ไม่คิดว่าทำอย่างไรให้การพัฒนาแม่น้ำโขงให้มันสมดุลได้อย่างไร คิดแต่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ สร้างเขื่อน แนวคิดการระเบิดเกาะแก่งเกิดขึ้น ถ้าคิดว่าแม่น้ำโขงเป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นอย่างไรมันก็จะเป็นประโยชน์ ที่จะช่วยให้ความคิดว่าแม่น้ำโขงจะพัฒนาอย่างไรมีความชัดเจนมากขึ้น เอาองค์ความรู้ องค์กรต่าง ๆ จากในประเทศและต่างประเทศ ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม แม่น้ำโขงมีหลายมิติ ในอดีตมิติแม่น้ำโขงมีรายละเอียดมาก เป็นวิถีวัฒนธรรม เป็นแหล่งอาหาร แต่กลับมาคิดเรื่องพลังงานกับเงิน ซึ่งในยุคปัจจุบันเรื่องเงิน พลังงาน มันตกไปแล้ว พลังงานมันมีแหล่งอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องหยุดได้ เหลือแต่เรื่องเงินที่ต้องหันกลับมาพูดกันใหม่ โดยเฉพาะแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำข้ามพรมแดน การว่าเป็นคนละเขตแดน คงไม่ได้ เพราะเราคือพลโลก ต้องคิดกันใหม่ ต้องดูแลเรื่องนี้ร่วมกัน

 

 

“ประเทศจีนบอกว่าเราดื่มแม่น้ำสายเดียวกัน อยากฝากไปบอกเขาเหมือนกันว่า การดื่มน้ำสายเดียวกันมันหมายถึงเรามีแม่สายเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราเป็นพี่น้องกัน เราจะทำให้พี่น้องเราเดือนร้อนได้อย่างไร การสร้างเขื่อนจำนวนมากตอนบนก็ทำให้พี่น้องทางตอนล่างเดือนร้อนกันหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องหยุดสร้างและหาทางอยู่ร่วมกันอย่างไร” นายนิวัฒน์กล่าว

ส่วนเรื่องทุนไทยเองที่เข้าไปปล่อยกู้ และบริษัทไทยที่เข้าไปสร้างเขื่อนในลาวนั้น นายนิวัฒน์กล่าวว่า เป็นลักษณะของทุนมันเป็นเรื่องการทำกำไร ต้องรุกเข้าไป แต่เรื่องพวกนี้ ภาพปัจจุบันมันถึงเวลาหรือยัง ที่แหล่งทุนก็จะต้องทบทวน เรื่องเงินที่จะนำมาใช้พัฒนาลุ่มน้ำโขงก็จะต้อง พิจารณาให้ชัดเจน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ให้กู้ ทุกธนาคารได้มองทุกมิติไหม ถึงเวลาแล้วหรือยัง ได้มองถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านไหม ดังนั้นตนมองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก องค์กรต่างๆ ต้องพิจารณาเรื่องธรรมาภิบาลและความเป็นธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น