ผวจ. แพร่ ห่วงใยประชาชน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน

นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มอบหมายให้กองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ระดับอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนในห้วงเวลานี้ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 เน้นมาตรการด้านการเตรียมความพร้อมมาตรการเผชิญเหตุ

ด้วยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยตอนบน จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน จากนั้นช่วงกลางเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ มีอากาศร้อนบางแห่ง และจะมีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ เพื่อให้เป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงขอให้กองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ภายใต้มาตรการ ด้านการเตรียมความพร้อม และด้านการเผชิญเหตุ

มาตรการด้านการเตรียมความพร้อม ได้แก่ การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่อาจก่อให้เกิดพายุฤดูร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ให้ผู้อำนวยการอำเภอ ท้องถิ่นเร่งตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ที่ไม่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะ ที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้ พร้อมแจ้งให้หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เพื่อซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ ตลอดจนเชิญชวนให้ประชาชนจิตอาสา มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ปรับปรุง ดูแลให้เกิดความปลอดภัย ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรอุปกรณ์ทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของที่พักอาศัย ช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลอดจนการมาตรการต่างๆของภาครัฐในการดูแลประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสาร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร อปพร.

มาตรการด้านการเผชิญเหตุ หากเกิดวาตภัยที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใด ให้เร่งสำรวจความเสียหาย และดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามกฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้แบ่งมอบภารกิจพื้นที่รับผิดชอบ และบูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดกำลังในรูปแบบทีมประชารัฐ ในการเร่งเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนหรือเร่งด่วน กรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการปกครองส่วนท้องถิ่น คือเข้าดำเนินการแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ ซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว กรณีความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้ท้องถิ่นและท้องที่ ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสำรวจความเสียหายให้ความช่วยเหลือ ตามกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์/แพร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น