ผวจ.แพร่ ทำพิธีบวงสรวง ทักษิณานุปาทานกิจ อุทิศถวายดวงพระวิญญาณ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ 119 ปี

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม2564 เวลา 08.09 น. นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานพิธีบวงสรวง ทักษิณานุปาทานกิจ อุทิศถวายดวงพระวิญญาณ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ 119 ปี และพิธีมหาพุทธาภิเษกสมโภชพระพุทธพิริยมหามงคลบพิตร ณ โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ โดยมี นายเลิศชาย รัตนะ ผู้อำนวยการ โรงเรียนพิริยาลัย นายมานพ ดีมี นายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย อดีต ผู้อำนวยการ โรงเรียนฯนายุสุขม กันกา นำศิษย์เก่ามาร่วมงานจำนวนมาก

พิริยาลัยจังหวัดแพร่ นามเดิมว่า “โรงเรียนเทพวงศ์” อันเป็นนามของเจ้าผู้ครองนครแพร่ สร้างปีใดไม่ปรากฏ แต่เข้าใจว่าเป็นก่อน พ.ศ 2444 เพราะระหว่างปี พ.ศ. 2444-2455 เกิดกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เจ้าผู้ครองนครแพร่หนีไปอาศัยอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง แต่เดิมโรงเรียนตั้งอยู่ระหว่างวัดพระบาท กับวัดมิ่งเมือง(ปัจจุบันวัดทั้งสองได้ขยายอาณาเขตรวมเป็นวัดเดียวกัน มีชื่อว่า วัดพระบาทมิ่งเมือง วรวิหาร) เดิมเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมนั่นเอง เมื่อจลาจลสงบแล้ว นามโรงเรียนเทพวงศ์ก็สูญไป แต่ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดมีนามว่า โรงเรียนตัวอย่างเมืองแพร่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถรับนักเรียนได้ประมาณ 200 คน และได้ใช้เป็นสถานที่เรียนจนถึง พ.ศ. 2453 จึงย้ายมาสร้างใหม่ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันคือ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่)โดยมีพระยานิกรกิตติการ (กั๊ก ศรีเพ็ญ) ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มและอำนวยการสร้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยลงมือสร้างเดือนเมษายน พ.ศ. 2455 เมื่อสร้างเสร็จแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม และได้รับพระราชทานนามว่า “พิริยาลัย” โดยอาศัยเค้ามูลจากนามเจ้าผู้ครองนครเดิม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีโรงเรียนขึ้น คือ เจ้าพิริยะเทพวงศ์

โรงเรียนได้ทำการเปิดสอน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2455 โดยยกฐานะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ต่อมาทางฝ่ายปกครองยกฐานะเมืองแพร่ขึ้นเป็นมณฑล ชื่อ “มณฑลมหาราช” โรงเรียนพิริยาลัยจึงได้รับการยกย่องเป็นโรงเรียนประจำมณฑลมหาราชไปด้วย พ.ศ. 2469 มณฑลถูกยุบเป็นจังหวัด โรงเรียนพิริยาลัยจึงกลับมาเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดตามเดิม พ.ศ. 2477 ได้รับความอนุเคราะห์จากทางราชการโดยยกอาคารต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทำการทหารให้อีก จึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้น ณ บริเวณทุ่งนาติดกับถนนเพชรรัตน์(ปัจจุบัน คือ ถนนยันตรกิจโกศล) โดยสร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 10 ห้อง (ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว เพื่อสร้างอาคาร 2 และอาคาร 3) เปิดทำการสอนเมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา โดยใน พ.ศ. 2478 เปิดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และเริ่มเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาพาณิชการปีที่ 5

 

พ.ศ. 2480 ขยายถึงชั้นมัธยมพาณิชการปีที่ 8 และยุบชั้นมัธยมพานิชการในปี พ.ศ. 2481 โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 พ.ศ. 2500 เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 แผนกวิทยาศาสตร์ แบบสหศึกษา

พ.ศ. 2501 เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 แผนกวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2503 – 2505 ยุบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2-3 ตามลำดับ คงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.ศ. 1(เทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4) ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือ ม.ศ. 5(เทียบชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2)

พ.ศ. 2511 โรงเรียนได้รับการพิจารณา ให้เข้าอยู่ในโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมศึกษาในชนบท (คมช.) พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้รับการพิจารณาให้เข้าอยู่ในโครงการพัฒนาโรงเรียนส่วนภูมิภาคกลุ่มที่ 2 (คมภ.2) 2521 เริ่มเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) ตามหลักสูตร พ.ศ. 2521 จำนวน 10 ห้องเรียน ในปีนี้โรงเรียนต้องบริหารหลักสูตรอยู่ 3 หลักสูตร คือ หลักสูตร พ.ศ. 2503 พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2521

ร่วมแสดงความคิดเห็น