สธ.จับมือภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU ส่งเสริม – สนับสนุน – สร้างความรอบรู้คนไทย ดื่มเครื่องดื่มลดหวาน

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

วันนี้ (18 มีนาคม 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และน.ส.ทิพยวรรณ ปริญญาศิริ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริม สนับสนุน สร้างความรอบรู้ในการบริโภค รวมถึงการรณรงค์ให้บริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์สุขภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสัดส่วนของปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัมต่อปริมาตรเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร โดยจัดเก็บตามมูลค่าและตามปริมาณน้ำตาลในอัตราก้าวหน้า ปรับเพิ่มอัตราภาษีทุก 2 ปี ภายในระยะเวลา 5 ปี จนถึงปี 2566 ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคน้ำตาลล้นเกินในประชาชน และเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันดำเนินมาตรการ

ที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมสำหรับคนไทยไปพร้อมกัน โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 8 หน่วยงานร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานน้ำตาลอย่างเหมาะสม สร้างความรอบรู้ เพิ่มศักยภาพในการเลือกบริโภคเครื่องดื่ม และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรเติมน้ำตาล เกินร้อยละ 5 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 25.5 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 4 เท่า ข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยนี้ ประกอบด้วย ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมสุขภาพ ดำเนินกิจกรรมในการสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านการอาหารให้กับประชาชน 2) มาตรการการเพิ่มการกระจายและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ ปรับสูตรและพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และการทำการตลาดที่เหมาะสม และ3) มาตรการในการออกกฎหมาย/ข้อบังคับโดยการ จัดทำกฎหมาย กฎระเบียบ ในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมทั้งดูแล กำกับ การจัดการแถมพก หรือแจกรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ในลักษณของการกระตุ้นการบริโภคที่เกินความเหมาะสม ผลการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทำให้เกิดนโยบาย และนวัตกรรมส่งเสริมให้ประชาชนมีการบริโภคเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเหมาะสม เช่น Foodchoice Application ฉลากทางเลือกสุขภาพ นโยบาย healthy meeting หวานน้อยสั่งได้ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น