กอปภ.ก.ประสานจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล เฝ้าระวังและเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 21 – 22 มี.ค. 64

วันที่ 19 มี.ค. 64 เวลา 19.00 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพ มหานคร และปริมณฑล เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือฤดูร้อน โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก บางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า ในช่วงวันที่ 21 – 22 มี.ค. 64 โดยให้จังหวัดและศูนย์ ปภ. เขตในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 (45/2564) ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2564 ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหา นคร และปริมณฑล ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า ในช่วงวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2564 โดยจะเริ่มมีผลกระทบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจากนั้นภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ซึ่ง กอปภ.ก ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจถูกฟ้าผ่าได้ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น