จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.และหน่วยงานภาคต่างๆ ผนึกกำลังสร้าง “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” Chiang Mai Better Breathing 2021

จังหวัดเชียงใหม่ ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังสร้าง “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” Chiang Mai Better Breathing 2021 วันที่ 19 – 21 มีนาคม 2564 ณ ลานกิจกรรม ชั้นที่ G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

ปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันและมลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากหลายปัจจัยได้แก่ การเผาในที่โล่งในช่วงฤดูแล้ง ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้าง เขม่าจากน้ำมันดีเซล รวมถึงปัญหาไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก สะสมในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของเชียงใหม่ มีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มลพิษต่างๆ ถูกกักไว้และแผ่ปกคลุมทั่วเมืองสะสม จนมีค่าฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งในวันที่ 6,7,8 มีนาคม 2564 มีค่าฝุ่นขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีปริมาณความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า 79, 104 และ 107 มคก./ลบ.ม.(ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม.)


ด้วยคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 ได้มีการประชุม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ประสานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ Chiang Mai Better Breathing ๒o๒๑ “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” ภายในกลางเดือนมีนาคม 2564
ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งซักซ้อมแนวทางปฏิบัติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ

รวมถึงการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และการดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ที่ทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองอันเป็นการสร้างเหตุรำคาญแก่ประชาชนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งแจ้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความตระหนัก และปรับพฤติกรรมประชาชนในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชน/เมือง ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชนในการทำหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกวิธีในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ Chiang Mai Better Breathing 2021 “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” จัดขึ้น ณ ลานกิจกรรม ชั้นที่ G เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต วันที่ 19 – 21 มีนาคม 2564 โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
– กิจกรรมการแข่งขัน “สร้างสื่อสู้ฝุ่น”
– กิจกรรมการประกวดโปสเตอร์ infographic ในหัวข้อ รู้ สู้ ภัยหมอกควัน
– กิจกรรมให้ความรู้ และกิจกรรม Workshop
กิจกรรม DIY มุ้งสู้ฝุ่น โดย ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และ ผศ.ดร.ยศธนา คุณาทร รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กิจกรรม DIY หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดย อ.ดร.ว่าน วิริยา คณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– กิจกรรมการเสวนา
หัวข้อ “การดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารเชื้อเพลิง (FireD)” โดย คณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการ ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, ว่าที่ ร.ต.ณัฐพงค์ ฐิตวิกรานต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสภาลมหายใจ และ ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หัวข้อ “เยาวรุ่นกับฝุ่นควัน” โดย คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ “การเฝ้าระวังและการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย ผศ.พญ.ภัทราพร ตาเจริญเมือง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การพูดคุยเกี่ยวกับ “บทบาทสื่อท่ามกลางวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย คุณพิเชษฐ์ ตัณติโรจนกุล แอดมิน WEVO สื่ออาสา และคุณสุรพงษ์ พรรณ์วงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 -21 มีนาคม 2564 มาร่วมกันสร้างสรรค์ และแสดงพลังของพี่น้องชาวเชียงใหม่ ในงาน Chiang Mai Better Breathing 2021 “เชียงใหม่เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า”

ร่วมแสดงความคิดเห็น