(มีคลิป) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยฯ ลงพื้นที่ลำปาง ติดตามสถานการณ์น้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง เยี่ยมชมดูการดำเนินงานขุมเหมืองแม่ทาน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 

นายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่ทะ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ “ขุมเหมืองแม่ทาน” ของบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์(ลำปาง) จำกัด ร่วมศึกษานวัตกรรมต้นแบบ เรื่องการผันน้ำจากแหล่งน้ำในขุมเหมืองขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดใช้กับขุมเหมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะได้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับไว้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยการลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำภายในบริเวณขุมเหมืองแม่ทานครั้งนี้ มีนางสุรีย์ มาปลูก นายอำเภอแม่ทะ และนางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้ร่วมกันเป็นตัวแทนในนามจังหวัด นำทีมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทีมผู้บริหารของบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ (ลำปาง) จำกัด และทีมพนักงาน-เจ้าหน้าที่ ของบริษัทฯ ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมกับนำเสนอข้อมูลรายละเอียดในประเด็นด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยจากข้อมูลที่ได้นำเสนอ พบว่า “ขุมเหมืองแม่ทาน” แต่เดิมเคยเป็นขุมเหมืองลิกไนต์และเหมืองแร่บอลเคลย์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะหมดอายุประทานบัตรในปี พ.ศ. 2575 และตั้งแต่เมื่อปี 2562 ทางเหมืองได้เริ่มทยอยหยุดการทำงานของเครื่องจักรทำให้พื้นที่ภายในบริเวณเหมืองกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งทางบริษัท SCG ซีเมนต์(ลำปาง) จำกัด ได้ร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำภายในขุมเหมือง ภายใต้โครงการ “เหมืองแร่แก้ภัยแล้ง” ทำการลงทุนติดตั้งระบบ Solar Pump ด้วยงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท และทำการผันน้ำจากแหล่งน้ำในขุมเหมืองขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำใช้ ทั้งเพื่อการอุปโภค และเพื่อการเกษตร ของชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่

โดยการผันน้ำจากขุมเหมืองแม่ทานขึ้นมาใช้นี้ ถือเป็นงานต้นแบบที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเหมืองแม่ทานเพียงแห่งเดียวสามารถที่จะกักเก็บน้ำได้หลายล้านลูกบาศก์เมตร โดยหากมีการกักเก็บน้ำไว้อย่างต่อเนื่องให้เต็มความจุก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 50,000,000 ลบ.ม. เทียบเท่ากับการสร้างอ่างกักเก็บน้ำขนาดกลางไว้ในพื้นที่ และแม้ว่าปัจจุบันในช่วงระยะนี้จะเป็นช่วงหน้าแล้งแต่เหมืองแม่ทานก็ยังมีน้ำกักเก็บไว้อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับตั้งแต่ที่ได้มีการเริ่มกักเก็บเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้เหมืองแม่ทานได้มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมแล้วกว่า 4,000,000 ลบ.ม. ทั้งนี้เนื่องจากภายในขุมเหมืองจะมีน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ในพื้นที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง และทำการสูบน้ำขึ้นมาใช้สำหรับช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งแก่ชุมชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงถึงวันละกว่า 1,000 ลบ.ม. ทำให้ในช่วงหน้าแล้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งชุมชนบ้านแม่ทาน และชุมชนใกล้เคียง กว่า 260 หลังคาเรือน และพื้นที่ทำการเกษตรอีกกว่า 700 ไร่ ไม่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำใช้

โอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าเยี่ยมชมบริเวณขุมเหมืองดูการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ โดยกล่าวว่า การผันน้ำจากแหล่งขุมเหมืองเก่าขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะน้ำใต้ดินถือเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่พอจะหาได้หากต้องเผชิญกับสภาวการณ์ในยามวิกฤต โดยเหมืองแม่ทานจะเป็นต้นแบบที่ทางกระทรวงทรัพยฯ จะได้นำไปพัฒนาต่อยอดใช้ในพื้นที่ขุมเหมืองเก่าอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์พัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชน และยังเป็นแนวทางในการที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกิดความยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น