กฟผ. แม่เมาะ รับซื้อปุ๋ยหมักจากชุมชน ลดการเผาวัสดุทางการเกษตร ต้นเหตุปัญหา PM 2.5

ตามที่จังหวัดลำปาง ได้ออกประกาศมาตรการคุมเข้มงดเว้นการเผาทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2564 ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากการเผาเป็นต้นเหตุที่ได้ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และได้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตและสุขภาพของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือการรณรงค์หยุดพฤติกรรมการเผา ด้วยการดึงชาวบ้านในชุมชนพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ภายใต้มาตรการ “ชิงเก็บ ลดเผา และสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

จากมาตรการดังกล่าว “กฟผ. เหมืองแม่เมาะ” ได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ได้มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติทั้งเศษกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้าแห้ง ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเผาทิ้ง ด้วยการนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ทำการเกษตรช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั้งยังสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ จัดทำโครงการ “รับซื้อปุ๋ยหมักจากกลุ่มราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ” เพื่อทางชุมชน และชาวบ้านจะมีรายได้จากการจำหน่ายเศษวัสดุเหลือใช้ ช่วยลดปัญหาการเผาในพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายสตางค์ หัสนันท์ วิทยากรระดับ 7 แผนกปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพเหมือง กองฟื้นฟูสภาพเหมืองแม่เมาะ กล่าวเผยว่า “เหมืองแม่เมาะ” มีภารกิจหลักในการจัดหาถ่านหินลิกไนต์ส่งให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงให้แก่พื้นที่ภาคเหนือ ทั้งตอนบน-ตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกัน “เหมืองแม่เมาะ” ยังมีภารกิจควบคู่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่หลังการทำเหมือง โดยนับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน “เหมืองแม่เมาะ” ได้ทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่หลังการทำเหมืองไปแล้วกว่า 11,800 ไร่ ซึ่งตามแผนการใช้ประโยชน์สุดท้ายของพื้นที่ จะต้องมีการฟื้นฟูสภาพเหมืองตามเงื่อนไขแนบท้าย การขออนุญาตประทานบัตรรวมพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ 1,300 ไร่ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ 1,700 ไร่ และพื้นที่ปลูกป่าอีกกว่า 39,000 ไร่ โดยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่จำเป็นต้องมีการเตรียมดิน และหลุมปลูก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเศษวัสดุจากธรรมชาติ เช่น แกลบ เปลือกถั่ว ตอซังข้าว เศษใบไม้ มาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้ปรับปรุงสภาพดิน ในส่วนนี้เอง กฟผ.เหมืองแม่เมาะ จึงได้นำชาวบ้านชุมชนรอบพื้นที่เข้ามาร่วมบูรณาการในการจัดทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ธรรมชาติ พร้อมเปิดรับซื้อปุ๋ยหมักจากชาวบ้าน ซึ่งปริมาณการรับซื้อในแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับแผนการปลูกป่าที่ได้จัดวางไว้

ด้านนางสาวอัญญารัตน์ วงศ์คช วิทยากรระดับ 6 แผนกบำรุงรักษาบริเวณและจัดการพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง กองฟื้นฟูสภาพเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า โครงการรับซื้อปุ๋ยหมักจากชาวบ้าน เป็นโครงการที่เหมืองแม่เมาะได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีจะมีการรับซื้อปุ๋ยหมักเฉลี่ยปีละประมาณ 500-600 ลบ.ม. ส่วนการรับซื้อจะซื้อในราคาตามท้องตลาด ปัจจุบันอยู่ที่ 1,160 บาท/ลบ.ม. โดยปุ๋ยหมักดังกล่าวทางหน่วยงานเหมืองแม่เมาะ จะทำการรับซื้อเฉพาะจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ และจะต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการทำปุ๋ยหมักจากหน่วยงาน ซึ่งผลผลิตปุ๋ยหมักที่นำมาขายจะต้องมีคุณภาพได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดด้วย

โดยจากการดำเนินงานดังกล่าว ได้ช่วยให้ชาวบ้านชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าตระหนักและเข้าใจถึงหลักการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องเผาทิ้งอย่างไร้คุณค่า โดยนายรัตน์ อุหม่อง ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่จาง หมู่ที่ 1 ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2564 ได้กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านในชุมชนบ้านแม่จาง ที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรมักจะใช้วิธีการกำจัดเศษวัชพืชเหลือใช้ด้วยวิธีการเผาเหตุเพราะไม่รู้ว่าจะกำจัดอย่างไร อีกทั้งการเผาเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก ประหยัด และรวดเร็ว แต่ในระยะหลังหลายหน่วยงานได้เข้ามารณรงค์ไม่ให้มีการเผา เพราะการเผาเป็นสาเหตุก่อให้เกิดมลพิษหมอกควัน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ประจวบกับได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการรับซื้อปุ๋ยหมักของเหมืองแม่เมาะ ทำให้ชาวบ้านเกิดความสนใจ และได้รวมตัวกันเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งหลังการเข้าร่วมทางหน่วยงานเหมืองแม่เมาะ ได้เข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องการนำเศษวัสดุต่างๆ มาทำปุ๋ยหมักทดแทนการเผา

โดยทางชุมชนเองได้เริ่มมีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำเป็นปุ๋ยหมักอย่างจริงจัง ทำการรับซื้อเศษใบไม้ ซังข้าวโพด จากแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรภายในชุมชนราคาตันละ 500 บาท รับซื้อขี้วัวกระสอบละ 20 บาท นำมาผสมคลุกเคล้าตามสูตรทำเป็นปุ๋ยหมักส่งขายให้กับเหมืองแม่เมาะ โดยมีบางส่วนที่เหลือได้จำหน่ายขายให้กับชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในไร่นา และพื้นที่สวนเกษตร ช่วยลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมี และได้ช่วยเพิ่มผลผลิต และรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากอาชีพหลัก และอาชีพเสริม ตลอดจนยังช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ห่างไกลจากสารพิษ สารเคมีตกค้าง และโรคร้ายแรงที่เกิดจากหมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

ร่วมแสดงความคิดเห็น