วิกฤตโควิด-19 ปิดกาดนัด ตกงานพุ่ง ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคณะทำงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุตัวเลขแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 25 เม.ย.นี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา 2,438 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 11 ราย เป็นตัวเลขที่น่ากังวล ซึ่งเมื่อวานนี้ เชียงใหม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 163 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,133 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,441 ราย รักษาหายแล้ว 692 รายและยอดผู้ป่วยที่มีแนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง


ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ ได้พิจารณาเรื่องการมาตรการควบคุมโรคเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววันในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล ซึ่งอยู่รอบนอกของอำเภอเมือง มอบให้นายอำเภอพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโดยให้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ แม้กระทั่งมีมติออกคำสั่ง ที่ 41/2564 เรื่องปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว โดยระบุคำสั่ง ห้ามใช้สถานที่ใดๆ เพื่อการจำหน่ายสินค้าที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว (อาทิ ตลาดนัดเปิดท้ายขายของ ฯลฯ) เว้นแต่เป็นการดำเนินการของส่วนราชการที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยสั่งให้ปิดเป็นระยะเวลา 14 วัน ให้มีผลตั้งแต่ 25 เม.ย.นี้ ถึง 8 พ.ค. 2564


ด้านกลุ่มผู้ค้ากาดนัด ใน จ.เชียงใหม่ กล่าวกับทีมข่าวว่า ปิดแหล่งค้าขาย กาดนัดในช่วงนี้ ส่งผลกระทบกันหนัก ต้องปรับตัว เท่าที่เห็นก็ไปค้าขายตามข้างทางบ้าง หรือตามตลาดสดในชุมชนที่ยังพอมีเปิดค้าขายบ้าง ไม่เช่นนั้นเดือดร้อน มีค่าใช้จ่ายจิปาถะ รออยู่ ทั้งค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเทอมลูกๆ เป็นต้น

อดีตประธานหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ติดตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 น่าห่วงโดยเฉพาะรายได้ประชาชนและการจ้างงาน ที่สถานการณ์แบบนี้ การลงทุนชลอตัว บรรดาเด็กๆจบใหม่หางานยากขึ้น

” มิหนำซ้ำยอดผู้ประกันตนใช้สิทธิว่างงานสูงถึง 1.21 ล้านคน คิดเป็น 67% ของผู้ออกจากระบบประกันสังคม 2.21ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19ด้วย รูปแบบกิจการที่มีผู้รับสิทธิกรณีว่างงาน จะอยู่ในสายงานโรงแรม ที่พัก ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สิ่งทอ หากคุมโควิด ไม่อยู่ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ในห้วงเวลา 14 วัน นับตั้งแต่ 25 เม.ย.นี้ จนถึง 8 พ.ค. 2564 มีตัวเลขทยานสูง ความเชื่อมั่น ในระบบบริหารจัดการ จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตาม ในสังคมบ้านเราอย่าลืมว่า กลุ่มค้าขาย ตามกาดนัด ที่มีคำสั่งปิด ส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องดิ้นรน ในท่ามกลางรอความชัดเจนจากมาตรการช่วยเหลือ ไม่ต้องไปถามหาความร่วมมือตามมาตรการทางสาธารณสุข เพราะ แต่ละคน ระมัดระวังตัวกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้แน่ให้ อยู่บ้าน ตามแนวทางสาธารณสุข แต่ไม่มีรายละเอียดมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะช่วยคลี่คลาย การกินอยู่ การหางานทำหรือทำอย่างไร จะมีรายได้พอใช้จ่ายในแต่ละครอบครัวเป็นความหวังของประชาชนที่ชัดเจน เป็นประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชน อยากสื่อถึงภาครัฐฯ ต้องเร่งหาทางคลายวิกฤตินี้ด้วย ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น