เหมืองแม่เมาะ ยังคงคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 นำผู้ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องจักรในห้อง Control Room เข้า Safe Zone ลดความเสี่ยง

การระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วประเทศ ในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ที่มีภารกิจในการผลิตและส่งถ่านหินลิกไนต์ให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ยังคงคุมเข้มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่ในการควบคุมการจัดส่งถ่านหินลิกไนต์

นายมาโนช ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า งานการจัดส่งถ่านหินลิกไนต์ให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้มอบหมายให้ นายปณิธาน คันธิยะรัตน์ หัวหน้ากองปฏิบัติการระบบขนส่งวัสดุ (กปร-ช.) จัดทำแนวทางปฏิบัติงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสังกัดทั้ง 4 แผนก เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่ให้กระทบกับภารกิจการจัดส่งถ่านหินลิกไนต์ โดยสรุปได้ ดังนี้

1. บริเวณชั้น 3 อาคาร Conveyor Control Center (CCC) จัดให้เป็น Clean Room คุมเข้มมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่อย่างเด็ดขาด โดยให้หัวหน้างานและวิศวกรกะ ที่เคยปฏิบัติงานในห้องดังกล่าว ย้ายลงมาปฏิบัติงานที่ชั้น 1 แทน พร้อมกับให้ ปฏิบัติงานและสั่งการจากภายนอกห้องกระจกเท่านั้น

2. ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นไปยังอาคาร CCC โดยเด็ดขาด แต่หากมีเหตุจำเป็นให้ยึดหลัก D-M-H-T-T ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย D : Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด , M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา , H : Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ , T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด- 19 (เฉพาะกรณี) และ T : Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อน เข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น

3. ให้ผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร (OP) ในห้อง Control Room จำนวนกะละ 3 คน ทั้ง 4 แผนก เข้าพักในพื้นที่ Safe Zone ซึ่ง กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ได้จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมกับจัดรถยนต์ จำนวน 1 คัน สำหรับใช้งาน โดยเริ่มเข้าพื้นที่ Safe Zone ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน-31 พฤษภาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

4. จัดรถรับส่งสำหรับงานปฏิบัติการชุดพิเศษ 7-8 คน สำหรับผู้ปฏิบัติงานแต่ละกะ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานช่าง , ผู้ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องจักร (OP) , หัวหน้างาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พบปะกับผู้ปฏิบัติงานอื่น และลดความเสี่ยง

นายมาโนชฯ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ขอเป็นตัวแทน กฟผ. ขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ ในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ไม่ทำให้งานเสียหาย ปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยพร้อมกับร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังในให้พวกเราทุกคนและครอบครัว รวมถึงทุกภาคส่วนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น