แรงงาน มีสิทธิได้เงินเยียวยาจากประกันสังคม 50% หากว่างงาน เพราะรัฐสั่งปิดเพื่อคุมโควิด

จากที่กรุงเทพมหานคร มีประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564 ปิดสถานที่ และสถานประกอบการ จำนวน 35 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งให้ช่วยเหลือ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเข้าข่ายที่ต้องปิด หรือหยุดประกอบการชั่วคราว ทำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง “สามารถติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้”

ทั้งนี้ “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563” ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

“มีสิทธิได้รับ ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน”

ผู้ประกันตน ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง แล้วส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรก ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ทั้ง 12 แห่ง หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น