เรือนจำอำเภอเทิง จัดพิธีรับพระราชทานอุปกรณ์การแพทย์จากในหลวง ร.10 เพื่อใช้ในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 นายกิตติพงศ์ สาหร่าย ผบ.เรือนจำอำเภอเทิง นพ.สุทธิพงษ์ ปาระคะ ผอ.รพ.เทิง นำข้าราชการ พนักงานในสังกัด และตัวแทนผู้ต้องขังร่วมในพิธีรับพระราชทานเครื่องมือแพทย์จากในหลวง ร.10 เพื่อใช้ในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ณ ภายในเรือนจำอำเภอเทิง โดยวันนี้มีเรือนจำเข้าร่วมพิธีรับพระราชทานเครื่องมือแพทย์รวมทั้งหมด 19 เรือนจำ และมีผู้แทนเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศร่วมกิจกรรม โดยเป็นการถ่ายทอดพิธีทางออนไลน์ รับสัญญาณถ่ายทอดพิธีพระราชทานจากพระที่นั่งอัมพรสถาน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

นายกิตติพงศ์ สาหร่าย ผบ.เรือนจำอำเภอเทิง จ.เชียงราย เผยว่า เรือนจำอำเภอเทิง มีพื้นที่ 17 ไร่ 71 ตร.ว. มีผู้ต้องขังชายจำนวน 806 คน ผู้ต้องขังหญิงจำนวน 92 คน รวมเป็นจำนวน 898 คน ที่ผ่านมาผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยเป็นโรคไข้หวัด ภูมิแพ้อากาศ ความดันโลหิตสูง และโรคในช่องปาก ซึ่งที่ผ่านมาทางเรือนจำต้องส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่ รพ.เทิง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรเพื่อตามไปดูแลผู้ต้องขัง ต่อมาทางเรือนจำได้เข้าร่วมโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ซึ่งมีการดำเนินการหลายอย่าง ทั้งการจัดมุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าไปใช้ศึกษาหาความรู้ในการดูแลสุขภาพ การจัดบุคลากรการแพทย์มาตรวจรักษาผู้ต้องขังภายในเรือนจำ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.10 ที่ได้พระราชทานอุปกรณ์การแพทย์ให้กับทางเรือนจำเทิง และรพ.เทิง จำนวน 15 รายการ 19 ชิ้น เพื่อใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ลดการนำผู้ป่วยออกไปรักษานอกเรือนจำ สร้างความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อทั้งบุคลากรและผู้ต้องขังในเรือนจำเทิงอย่างหาที่สุดไม่ได้

โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ดำเนินงานเป็นระยะเวลา 1 ปี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 128 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์แก่เรือนจำ 19 แห่ง และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ ซึ่งนอกจากเรือนจำเทิงที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 2 นี้ ยังมีเรือนจำอีก 18 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการพร้อมกัน ได้แก่ เรือนจำอำเภอฝาง เรือนจำอำเภอแม่สอด เรือนจำอำเภอสวรรคโลก เรือนจำอำเภอแม่สะเรียง เรือนจำอำเภอพล เรือนจำอำเภอสีคิ้ว เรือนจำอำเภอนางรอง เรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ เรือนจำอำเภอรัตนบุรี เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี เรือนจำอำเภอธัญบุรี เรือนจำอำเภอทุ่งสง เรือนจำอำเภอปากพนัง เรือนจำอำเภอนาทวี เรือนจำอำเภอเบตง เรือนจำอำเภอหลังสวน เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ และเรือนจำอำเภอหล่มสัก

สำหรับ โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยทรงเห็นว่าสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขัง ซึ่งก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงการได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรม ข้อจำกัดในด้านการได้รับความรู้ด้านสุขอนามัย ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง จึงมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาปรับปรุง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้น เพื่อเป็นการเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขังให้ได้รับการบริการทางสุขภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไป และนอกเหนือจากการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี เพื่อพร้อมต่อการพัฒนาเรียนรู้ของผู้ต้องขังในการเป็นการคืนคนดีสู่สังคม ยังเป็นการเสริมสร้างทัศนคติความเป็นจิตอาสาอีกด้วย

จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ซึ่งการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังถือเป็นหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม

ทั้งนี้ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ เพื่อออกมาสู่สังคมภายนอกและประกอบอาชีพสุจริตอย่างมีคุณภาพ โดยพระราชทานความช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนให้จิตอาสาพระราชทานเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือทั้งด้านการแพทย์ พยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการประสบความสำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการ

‘ในหลวง’ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ในการดำเนินงานโครงการในระยะแรก โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 217 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จำนวน 756 รายการ พระราชทานให้เรือนจำ ทัณฑสถานเป้าหมาย 25 แห่ง ประกอบด้วยเรือนจำความมั่นคงสูงสุด 5 แห่ง เรือนจำกำหนดโทษสูง 12 แห่ง ทัณฑสถานหญิง 7 แห่ง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 1 แห่ง และจะมีการขยายความช่วยเหลือไปยังเรือนจำต่อไป
โดยการดำเนินการทำให้เกิดการบูรณาการทางการแพทย์ระหว่างกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กับกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ โดยมีผลการดำเนินงานต่างๆ อาทิ

1.พระราชทานเครื่องมือแพทย์จำนวน 756 รายการ เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ของผู้ต้องขัง เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องไตเทียม ยูนิตทันตกรรม และรถเอกซเรย์ โมบาย เป็นต้น และโดยเฉพาะรถเอกซเรย์โมบาย นอกจากจะให้บริการผู้ต้องขังแล้ว ยังสามารถให้บริการประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั่วประเทศด้วย

2.การจัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เป้าหมาย 25 แห่ง เช่น สิทธิประโยชน์ผู้ต้องขังในการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการรับปรึกษาโรคเฉพาะทางไกล คัดกรองโรค เช่น เอกซเรย์ปอดค้นหาวัณโรค ตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยสารน้ำทางช่องปาก การจัดทำหลักสูตรครูฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือครู ก. ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในเรือนจำ มีการพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพยาบาลให้ผู้ต้องขังและการจัดทำสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาทิ ภาพพลิก ชุดคลิปวิดีโอ และละครสั้น เพื่อให้ผู้ต้องขังศึกษาและนำไปสู่การป้องกันโรคต่างๆ

3.ด้านการบริหารจัดการโรคติดต่อ ได้จัดให้มีการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อุปกรณ์การฉีดให้กับเรือนจำทุกแห่งที่พบการระบาด การคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี 100% คัดกรองวัณโรคผู้ต้องขังด้วยวิธีเอกซเรย์ปอด 100% และจัดให้มีห้องควบคุมที่โรงพยาบาลครบตามเรือนจำเป้าหมาย รวมทั้งการจัดสถานที่กักกันผู้ต้องขังแรกรับที่สามารถดำเนินการไปแล้ว 1 แห่ง โดยในแห่งที่เหลืออยู่ระหว่างการบริหารจัดการให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป

4.ด้านการเพิ่มพูนความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้มีการจัดตั้ง ‘มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข’ ในเรือนจำเป้าหมายขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ต้องขังได้เข้ามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจด้วยตนเอง อันจะทำให้ผู้ต้องขังมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง และเมื่อพ้นโทษไปแล้วจะมีสุขภาพที่ดี

 

5.ด้านการปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ ได้พระราชทานให้จิตอาสาพระราชทานเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายนอกและในเรือนจำ ซึ่งได้มีการนัดจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิงเดย์ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของจิตอาสาพระราชทานให้ผู้ต้องขังที่มาร่วมเป็นจิตอาสาได้เรียนรู้เรื่องการทำความดีเพื่อส่วนรวมอันเป็นความภาคภูมิใจให้ตนเอง และส่งผลให้สังคมและชุมชนให้การยอมรับผู้ต้องขังมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างผู้ต้องขังกับชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น