ปภ.เตือนพฤติกรรมเสี่ยงเพลิงไหม้ อัคคีภัยป้องกันได้ต้องใส่ใจไม่ประมาท

อัคคีภัย เป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความประมาท และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ขอแนะวิธีป้องกันเพลิงไหม้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– เลือกใช้เครื่องไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
– ปิดสวิตช์และถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันเกิดความร้อนสะสม ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้
– ไม่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับรางปลั๊กพ่วงชนิดเดียวกัน เพราะสายไฟเกิดความร้อนสูง อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้
– ใช้ปลั๊กแบบติดผนังกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา อาทิ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น
– ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟและถังดับเพลิง บริเวณพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ อาทิ ห้องครัว ห้องพระ ห้องนอน
เพลิงไหม้จากก๊าซหุงต้มรั่วไหล ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– ตรวจสอบถังก๊าซและเตาแก๊สให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สายยางท่อนำก๊าซ ข้อต่อ และวาล์วถังก๊าซ ไม่มีรอยรั่ว แตก
– เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบอาหาร ไม่อุ่นอาหารทิ้งไว้ โดยไม่มีผู้ดูแล
– ปิดวาล์วถังก๊าซและเตาแก๊สทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซในบริเวณดังกล่าว
– ไม่วางวัสดุติดไฟง่ายใกล้เตาแก๊ส เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นใส่ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
การปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ให้ปฏิบัติตน ดังนี้
– กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อดับไฟและควบคุมเพลิง
– กรณีเพลิงไหม้รุนแรง ให้แจ้งเตือนผู้อื่นให้ทราบและอพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ จากนั้นโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิง
เพลิงไฟไหม้จากความประมาท ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– ดับก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง โดยทิ้งในถาดทรายหรือที่เขี่ยบุหรี่ ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นบ้านหรือวัสดุที่ติดไฟง่าย
– เลือกใช้กระถางธูปหรือเชิงเทียนที่เป็นภาชนะทนไฟ จะช่วยป้องกันไฟลุกลามไปติดวัสดุอื่น
– ดับธูปเทียน บุหรี่ ยากันยุงให้สนิททุกครั้ง ไม่จุดทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล หากไฟลุกลามจะไม่สามารถควบคุมเพลิงได้
– จัดเก็บวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงให้ห่างจากแหล่งความร้อน อาทิ หนังสือพิมพ์ เสื้อผ้า เพื่อป้องกันไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว
เพลิงไหม้จากการเผาขยะ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– กำจัดขยะโดยใช้วิธีฝังกลบแทนการเผา หากจำเป็นให้เผาในภาชนะที่ปิดมิดชิด
– ใช้น้ำราดดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันไฟลุกลามในพื้นที่ใกล้เคียง
– ไม่นำขยะประเภทสารเคมีหรือวัตถุไวไฟไปทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยา ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
– ไม่เผาขยะบริเวณที่มีลมพัดแรง ให้เผาในพื้นที่เหนือลม เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุอื่น ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
– ไม่เผาขยะแห้ง และวัชพืชในจุดเสี่ยงเพลิงไหม้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีวัสดุติดไฟง่ายใกล้พงหญ้าแห้ง
– จัดทำแนวกันไฟบริเวณรอบบ้านและพื้นที่การเกษตร หากเกิดเพลิงไหม้จะใช่ช่วยป้องกันไฟลุกลามได้
ทั้งนี้ อัคคีภัย อาจจะเป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การเรียนรู้วิธีป้องกันเพลิงไหม้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดเพลิงไหม้ได้จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากจะเกิดเพลิงไหม้

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น