สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ( ส.ค.ท.) มีจดหมายเปิดผนึก ถึงเพื่อนครูทั่วประเทศ วิชาชีพครูต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ( ส.ค.ท.) ได้มีจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ถึงพี่น้องผู้ประอยวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษาและประชาชน เรื่อง คุรุสภา สภาของผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ความว่า เรียน พี่น้องผู้ประกอบวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ( ส.ค.ท.) ได้ให้ความสำคัญวิชาชีพครูเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิชาชีพชั้นสูงถ้านับอายุการมีกฎหมาย พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ก็นับอายุได้ 19 ปี ถ้าเปรียบการเป็นมนุษย์ ก็กำลังเข้าสู้วัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยฉกรรจ์ ถ้าวัดผลประเมินผลการจัดการศึกษา ก็นับได้ว่ามีความสำเร็จอยู่หลายประการคือ เด็กเรียนเก่ง ระดับเกรดเฉลี่ยสูงได้หันกลับมาเรียนครูมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

วันนี้ วิชาชีพครูได้ถูกหยิบยกกลับมาพูดในสังคมอีกครั้ง คือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…..ที่ได้ปรับปรุงแก้ไข และอยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรในเดือนมิถุนายน ซึ่งยังมีประเด็นที่เห็นต่างระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และนโยบายของรัฐบาลอยู่หลายประเด็น รายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ จะขอเสนอประเด็นประกอบบางประเด็น ที่เป็นเบื้องต้น

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 วิชาชีพ คือ วิชาที่จะนำไปประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์
วิชาช่างไม้ เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญที่ฝึกฝนโดยเฉพาะ ซึ่งมีข้อกำหนดคุณลักษณะบางประการที่ทำให้วิชาชีพต่างจากอาชีพทั่วไป วิชาชีพชั้นสูง จึงเป็น วิชาชีพ ที่เป็นการอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ หากเอาคำว่าชั้นสูงไปต่อท้ายเป็นวิชาชีพชั้นสูง ตาม พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546″ ครู ” คือ บุคคลซึ่งประกูอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน วิชาชีพครู ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ดังที่ ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสะอ้านได้สรุปคุณลักษณะวิชาชีพ เพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาวิชาชีพครูไว้ 6ประการ คือ

  1. วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีการบริการที่ให้แก่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและจำเป็น อาชีพครู ใช้กิจกรรมการสอนเป็นกิจกรรมทางปัญญา การออกแบบวิธีการถ่ายทอดความรู้วัฒนธรรม ทักษะและความรู้ให้กับเยาวชนครู้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ แห่งวิชาชีพ
  2. สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องใช้วิธีการแห่งปัญญาในการให้บริการ อาชีพครูเป็นอาชีพที่ให้บริการแก่สังคมในด้านการถ่ายทอดทักษะทางสังคมค่านิยม วิชาการต่างๆ ให้แก่สั่งคมตามที่สังคมพึงประสงค์
  3. สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องได้รับการอบรม ให้มีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้งโดยใช้ระยะเวลานาน อาชีพครูก็ต้องใช้เวลาเล่าเรียนและฝึกฝน ในสถาบันสถานศึกษาและต้องใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 4 ปี จึงจะสำเร็จการศึกษา
  4. สมาชิกของวิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีเสรีภาพในการใช้วิชาชีพ ตามมาตรฐานของวิชาชีพในการประกอบวิชาชีพครูนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพมีเอกสิทธิ์ในการตกลงใจและตัดสินใจที่จะใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาการสอนแต่ละครั้งแต่ละวิชา
  5. วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา
    50 มาตรฐานการปฏิบัติตน กำหนดไว้เป็นข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
  6. วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีสถาบันวิชาชีพเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์ จรรโลงมาตรฐานของวิชาชีพ

ปัจจุบันได้กำหนดสภาครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือ เรียกอีกว่า คุรุสภา หรือ สภาวิชาชีพครูการวางรากฐานของวิชาชีพครูกว่าจะถึงวันนี้ คงต้องอาศัยเวลา การปรับปรงแก้ไข หรือบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม ของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลากหลาย
สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ( ส.ค.ท.) 4 พฤษภาคม พ.ศ.2564

สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์/แพร่

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น