ปภ.แนะเรียนรู้ – ป้องกัน…ลดเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ในช่วงพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะข้อควรปฏิบัติ เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ดังนี้

ป้องกัน – ลดเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ให้ปฏิบัติ ดังนี้

กรณีอยู่ในกลางแจ้ง

  • ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้ามักผ่าลงบริเวณที่มีความสูงโดดเด่นในกลางพื้นที่แจ้ง
  • เมื่ออยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ อาทิ รั้วลวดหนาม รางรถไฟ ท่อระบายน้ำที่เป็นโลหะ เพราะโลหะจะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าฝ่าได้
  • อยู่ห่างจากแหล่งน้ำ อาทิ สระน้ำ ทะเล เพราะความชื้นของน้ำเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดฟ้าผ่า
  • หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง อาทิ ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ เตะฟุตบอล ทำการเกษตร เพราะเพิ่มความเสี่ยง
    ต่อการถูกฟ้าผ่า
  • งดใช้เครื่องมือสื่อสารอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์ ทำให้ได้รับอันตราย
  • ไม่สวมเครื่องประดับประเภท ทอง เงิน นาก ทองแดง หากฟ้าผ่าลงมาผู้ที่สวมใส่เครื่องประดับ จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้ามายังผิวที่สัมผัส ทำให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น
  • ไม่ถือวัสดุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าในระดับเหนือศีรษะ อาทิ ร่มที่มียอดเป็นโลหะ คันเบ็ด จอบเสียม ไม้กอล์ฟ เพราะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้ถูกฟ้าผ่าได้

กรณีอยู่ในอาคาร ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้า เพราะสายล่อฟ้าจะรับกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากฟ้าผ่า จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
  • ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้า มุมตึก ระเบียงด้านนอกอาคาร เพราะเป็นที่โล่ง ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
  • ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมอยู่ให้ห่างจากประตูหน้าต่าง จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้
  • งดใช้เครื่องมือสื่อสารอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด อาทิ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เพราะหากฟ้าผ่ากระแสไฟฟ้า จะวิ่งมาตามสายอากาศ สายสัญญาณ และสายไฟฟ้า ทำให้อุปกรณ์เสียหาย ผู้ใช้ได้รับอันตราย

การช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่า ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปในที่ปลอดภัย ผายปอดสลับการนวดหัวใจ นำส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

พื้นที่รัศมีโดยรอบบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง 16 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดฟ้าผ่า หากเห็นฟ้าแลบ หรือฟ้าผ่า และได้ยินเสียงร้องหรือแลบ หรือฟ้าร้องถี่เร็วกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า กรณีที่ไม่สามารถหลบในที่ปลอดภัยได้ ให้นั่งยองๆ ซุกศีรษะระหว่างเข่า แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว มือปิดหูและเท้าชิดติดกัน และเขย่งปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายสัมผัสพื้นดินน้อยที่สุด หากฟ้าผ่าช่วยลดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามพื้นได้

กรณีอยู่ในรถยนต์ ให้ปิดประตู และกระจกให้มิดชิด ไม่สัมผัสตัวถังรถยนต์ที่เป็นโลหะ หากฟ้าผ่าลงมาบริเวณรถควรรอ ในรถอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้กระแสไฟฟ้าโดยรอบรถไหลลงดินจนหมด จึงเปิดประตูและออกจากรถ นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในช่วงที่เกิดฟ้าผ่า หากเกิดฝนฟ้าคะนอง ให้หลบในอาคาร ไม่อยู่บริเวณที่โล่งแจ้ง ไม่หลบใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หรือโครงเหล็ก งดทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทอนิกส์จะลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น