กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใยต่อภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้ แนะวิธีป้องกันและรักษา

วันที่ 6 พ.ค.2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 131 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พ.อ.นพ.วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พ.ท.วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พ.ท.หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ปฏิกิริยาภูมิแพ้ เป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และแสดงออกมาในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นผื่น บวม เป็นหืด หมดสติหรือถึงขั้นเสียชีวิต สารภูมิแพ้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ และพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

การแพ้อาหาร ร้อยละ 90 เกิดจากโปรตีนในนมวัว ไข่ขาว ถั่วลิสง ข้าวสาลี หรือถั่วเหลือง ลูกไม้ต่างๆ หอย ข้าวโพด ถั่ว สีย้อมอาหาร อาการของการแพ้อาหาร ได้แก่ ปวดท้อง, ถ่ายเหลว, คลื่นไส้ หรืออาเจียน, เป็นลม, เป็นลมพิษ, ผิวหนังบวมหรือผิวหนังอักเสบออกผื่น, ริมผีปาก ตา ใบหน้า ลิ้น และคอ บวม, คัดจมูกและเป็นหืด


สำหรับอาการแพ้อาหาร สามารถวินิจฉัยตามวิธีทางการแพทย์ ได้ดังต่อไปนี้ ขั้นที่ 1 จดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อกินอะไร หรือกินไปมากน้อย แค่ไหนจึงเกิดอาการแพ้อาหาร แล้วคนในครอบครัวคนอื่นๆ มีใครที่แพ้ด้วยบ้าง ขั้นที่ 2 จดรายการอาหารทุกวัน เพื่อดูพฤติกรรมการกิน อาการที่เกิดขึ้น และการใช้ยาต่างๆ ขั้นที่ 3 ตรวจร่างกาย ขั้นที่ 4 ทดสอบด้วยการสะกิดที่ผิวหนัง และการตรวจเลือด เพื่อวัดสารภูมิคุ้มกันชนิดอี (IgE: Immunoglobulin E) ขั้นที่ 5 การกำจัดอาหารทีละอย่าง เป็นวิธีทดสอบมาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงอาการแพ้กับอาหารบางอย่าง แต่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงมาก ถ้าเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้อ่อน ๆ แพทย์จะสั่งยาแก้แพ้หรือครีมทาผิวให้ผู้ป่วย ข้อควรระวัง ปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างรุนแรงแบบแอนาฟิแล็กซิส หรือโรคหืดแบบเฉียบพลัน เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่อันตรายมาก เพราะมีผลถึงชีวิต แม้จะพบไม่บ่อยกันก็ตาม เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นแค่ลมพิษและผื่น ทั้งนี้ภาวะทุโภชนาการและการเป็นโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงก็มีทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

การแพ้ยา มนุษย์สามารถแพ้ยาได้เกือบทุกชนิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่พบได้บ่อยนัก อาการอาจมีตั้งแต่ น่ารำคาญเล็กน้อยจนเป็นผลถึงชีวิต อาการเป็นผื่น เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้จริง แต่อาการอื่นๆ มักเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่า เช่น อาการปากแห้งหรืออ่อนเพลีย หรือบางครั้งก็เป็นผลจากพิษยาโดยตรง เช่น อาการตับถูกทำลาย แต่ทว่าหลายอาการก็บอกไม่ได้ว่าเกิดเพราะสาเหตุอะไร แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าเป็นปฏิกิริยาจากอะไร และควรทำต้องทำอย่างไรต่อไปบ้าง เพนิซิลลินและยาชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน คือสาเหตุของการแพ้ยาที่พบมากที่สุด อาการมีตั้งแต่เป็นผื่นเล็กน้อย เป็นลมพิษ จนถึงเป็นภูมิแพ้อย่างรุนแรงแบบแอนาฟิแล็กซิส แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ผื่นขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ยาที่คนแพ้บ่อยๆ ได้แก่ ยาซัลฟา ยานอนหลับในกลุ่มบาร์บิทูเรต ยาแก้ลมชัก อินซูลิน และยาชาเฉพาะที่ ถ้าใช้แล้วไม่เป็นไรก็ไม่ต้องหยุด นอกจากนี้ เรายังพบว่าหลายคนแพ้สารประกอบไอโอดีนสีทึบแสงที่ใช้เอกซเรย์ด้วย


อาการแพ้ยา ได้แก่ หายใจลำบาก หายใจแล้วมีเสียงหวีดตามมา, เป็นผื่น ลมพิษ และคันตามร่างกาย, หมดสติ การดูแลรักษาตนเอง การหลีกเลี่ยงคือการป้องกันที่ดีที่สุด, เลือกกินอาหารชนิดอื่นที่ไม่แพ้, ถ้าเคยมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาแก้แพ้ไว้ติดตัวยามฉุกเฉิน ติดแผ่นทำเป็นที่ห้อยคอเพื่อให้คนช่วยเหลือได้ทัน, เรียนรู้วิธีช่วยชีวิตเบื้องต้น และสอนให้เพื่อนและคนอื่นในครอบครัวได้รู้ด้วย

ในโอกาสนี้ พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ จึงขอให้ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ขั้นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือ คนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอาการดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และบำบัดรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น