จ.ลำพูน เตรียมลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเสี่ยงในการเข้าถึงระบบการลงทะเบียนรับบริการวัคซีนโควิด -19

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 ที่ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ครั้งที่1/2564 โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน , นายอำเภอ , หัวหน้าส่วนราชการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย การรับทราบข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับวัคซีน รายงานโดย นายแพทย์สันติ วงฝั้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ทา , การพิจารณากลุ่มเป้าหมายในการจัดสรรวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มเบาะบาง อายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม และ กลุ่มที่ 2 กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ18- 59 ปี รายงานโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน , การใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์และเลขบัตรประชาชน เพื่อกำหนดเป้าหมายในการรับวัคซีน รายงานโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

ด้าน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดลำพูนนั้น จะมีการลงพื้นที่เคาะประตูบ้านโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2564 ในทุกอำเภอ เพื่อติดตามและดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงระบบในการลงทะเบียนรับบริการวัคซีนโควิด 19 ของจังหวัดลำพูน ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งจังหวัดลำพูนมีเป้าหมายในการซีดวัคซีนโควิด 19 จำนวน 1.3 แสนคน เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น


ในส่วนของอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผลข้างเคียงที่ไม่ได้เกิดจากวัคซีน และผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีน ในส่วนของผลข้างเคียงที่ไม่ได้เกิดจากวัคซีนนั้น มักเกิดจากความวิตกกังวล ความเครียด หรือสภาพจิตใจของผู้รับวัคซีน เช่น เป็นลม ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนนั้น อาจพบได้ แต่มักจะพบในระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งถือเป็นข่าวดีว่า ร่างกายของเราตอบสนองกับวัคซีน เช่น ปวดเมื่อย หรือมีไข้ต่ำ ๆ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ กลุ่มที่มีอาการแพ้รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันที ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรอสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาทีหลังฉีด ซึ่งจะทำให้สามารถทำการรักษาได้ทัน

ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในคุณภาพของวัคซีน แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ขอให้ทุกคนอดใจรอ และช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค อย่างการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อพาสังคมกลับสู่สภาวะปกติไปด้วยกัน


ด้าน นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อเนื่องให้กับสังคมมาอย่างยาวนาน สิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนความหวังของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทย ที่จะเข้ามาช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น นั่นคือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข้ามาแล้ว รวมทั้งได้เริ่มทำการฉีดให้กับ 4 กลุ่มนำร่องที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนก่อน ประกอบด้วย บุคลากรด่านหน้าและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ หรือหากได้รับเชื้อแล้ว มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้

ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ดังนี้ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคไตวายเรื้อรัง 4. โรคหลอดเลือดสมอง 5. โรคอ้วน 6. โรคมะเร็ง และ 7. โรคเบาหวาน ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะค่อยๆสะสมอาการ ค่อยเกิด ค่อยทวีความรุนแรง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มนี้ หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

การจัดสรรการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันภาวะอาการรุนแรงและเสียชีวิต จะจัดสรรตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิต ร่วมกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อสูง เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก โดยสิ่งที่ต้องปฏิบัติก่อนการรับวัคซีน คือ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน และปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฉีด หากมีอาการเจ็บป่วย ยังไม่ควรทำการฉีด ส่วนการปฏิบัติตัวหลังได้รับวัคซีน คือ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามปกติ โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งการเว้นระยะห่าง เพราะถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็มีโอกาสแพร่เชื้อและรับเชื้ออยู่ เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนที่วัดผลได้ในขณะนี้ คือ สามารถลดโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถวัดผลในเรื่องลดโอกาสในการติดเชื้อได้ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันและควบคุมโรค ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด คือ 4 หลัก ประกอบด้วย วัคซีน การล้างมือ การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างทางสังคม

ร่วมแสดงความคิดเห็น