ปภ.แนะผู้ใช้รถติดตั้งระบบก๊าซดูแล–เติมก๊าซอย่างถูกวิธี…ลดความเสี่ยงอันตราย บ่อยครั้งที่รถติดตั้งระบบก๊าซเกิดระเบิดหรือไฟไหม้ เพื่อความปลอดภัย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซและเติมก๊าซอย่างถูกวิธี ดังนี้

การดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • หมั่นตรวจสอบระบบก๊าซให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยนำรถไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
    เพื่อป้องกันอุปกรณ์ ระบบก๊าซชำรุด ทำให้เกิดอันตรายได้
  • ตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบก๊าซตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุก 5,000 กม. เปลี่ยนไส้กรองอากาศทุก 10,000 กม. เปลี่ยนไส้กรองก๊าซและหัวเทียนทุก 20,000 – 30,000 กม. ตรวจสอบ และตั้งบ่าวาล์วไอเสียทุก 40,000 – 60,000 กม.
  • ตรวจสอบรอยรั่วซึมของก๊าซอยู่สม่ำเสมอ โดยใช้น้ำสบู่ลูบตามข้อต่อท่อเดินก๊าซ และจุดต่างๆ หรือใช้เครื่องตรวจวัดระดับการรั่วของก๊าซ หากพบรอยรั่วซึมให้นำรถไปเข้าศูนย์บริการตรวจสอบ และซ่อมแซม
  • นำรถไปตรวจสอบทุกครั้งหลังประสบอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันตัวยึดถังก๊าซ ท่อนำจ่ายก๊าซ สายระบายก๊าซหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งระบบก๊าซเสียหาย ทำให้เกิดอันตรายได้
  • ไม่ปรับแต่งการจ่ายก๊าซหรือดัดแปลงอุปกรณ์ระบบก๊าซด้วยตนเอง ควรให้ช่างที่มีความชำนาญดำเนินการ เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอันตรายได้
  • กรณีสังเกตพบเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ อาทิ เสียงดัง เครื่องยนต์สั่น เครื่องเร่งไม่ขึ้น ไม่ตัดเข้าระบบก๊าซ นำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบ

ข้อควรปฏิบัติในขณะเติมก๊าซ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • เลือกใช้บริการจากสถานีบริการที่ได้มาตรฐาน หัวจ่ายก๊าซและท่อนำส่งก๊าซมีมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎและระเบียบของสถานีบริการอย่างเคร่งครัด
  • ดับเครื่องยนต์และลงจากรถทุกครั้งในขณะที่เติมก๊าซ รอจนเติมก๊าซเสร็จค่อยกลับขึ้นรถ เนื่องจากถังก๊าซที่ติดตั้งมากับระบบรถมีการยืดและหดตัวจากแรงดันของก๊าซ ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากถังก๊าซระเบิด
  • ห้ามประกอบกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟในขณะเติมก๊าซ อาทิ สูบบุหรี่ ใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอาจเกิดประกายไฟ เป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้รถได้
  • ไม่เติมก๊าซเกินแรงดันหรือความจุของถังก๊าซ เพราะจะทำให้ถังก๊าซมีแรงดันมากเกินไป ส่งผลให้ถังก๊าซเสื่อมสภาพเร็วจึงเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดได้
  • ไม่เติมก๊าซผิดประเภท เพราะถังก๊าซถูกออกแบบมาสำหรับในการใช้ระบบก๊าซเฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง การใช้อุปกรณ์ผิดประเภท ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดระเบิด
  • ไม่ถ่ายก๊าซจากทางหนึ่งไปสู่อีกถังหนึ่ง เพราะหากก๊าซรั่ว จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและเกิดเพลิงไหม้รถได้
  • ถอดสายก๊าซก่อนเคลื่อนรถ เพื่อป้องกันรถกระชากสายเติมก๊าซ ทำให้เกิดการรั่ว และเป็นอันตรายได้ วิธีปฏิบัติเมื่อก๊าซรั่ว ดับเครื่องยนต์ ปิดวาล์วถังก๊าซ ออกห่างจากรถในระยะที่ปลอดภัย ห้ามก่อประกายไฟ ห้ามสตาร์ทรถ

ทั้งนี้ การเลือกติดตั้งระบบก๊าซจากศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน การใช้ถังก๊าซ และอุปกรณ์ระบบก๊าซที่มีคุณภาพ
การหมั่นตรวจสอบ และการดูแลระบบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถติดตั้งระบบก๊าซ

ร่วมแสดงความคิดเห็น