(มีคลิป) เจ้าหน้าที่ UNDP ลงพื้นที่ติดตาม 7 หมู่บ้าน ดูความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับสถานะทางทะเบียนให้สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ หลังโควิด-19 ระบาด

 

เจ้าหน้าที่โครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นำโดย นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย บ้านเฮโก บ้านรวมใจ บ้านกิ่วสไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย บ้านป่าคาสุขใจ บ้านพนาสวรรค์ บ้านจะบูสี ต.แม่สลองนอก และบ้านอาโยะ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง  จำนวน 7 หมู่บ้าน เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการ

โดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UNDP โดยได้รับงบประมาณจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือบุคคลไร้สัญชาติ หรือไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าว ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสวัสดิการต่างๆของรัฐบาล เนื่องจากไม่มีสถานะทางทะเบียน

โดยมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 107 คน แบ่งเป็น บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง  จำนวน 24 ราย บ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จำนวน 23 ราย บ้านรวมใจ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน  จำนวน 10 ราย บ้านกิ่วสไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จำนวน 6 ราย บ้านพนาสวรรค์ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง  จำนวน 22 ราย บ้านจะบูสี ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง  จำนวน 6 ราย และบ้านอาโยะ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 16 ราย ซึ่งจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา ทำให้หมู ไก่ และปลาของผู้เข้าร่วมโครงการเริ่มขยายพันธุ์ ทำให้สามารถลี้ยงชีพได้โดยด้วยตนเอง และเหลือพอที่จะสามารถนำไปจำหน่ายในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

นายไกรทอง เหง้าน้อย กล่าวว่า การดำเนินการของโครงการฯ ก็เพื่อต้องการให้กลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เพราะไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุ และไม่รู้หนังสือ ประกอบกับอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับข่าวสารการลงทะเบียนต่างๆ เป็นไปได้ยาก อาจจะตกสำรวจจึงไม่ได้รับสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือเป็นการส่งเสริมให้มีอาชีพ และสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ อย่างยั่งยืน แต่หากนำเงินมามอบให้ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลือบุคคลกลุ่มดังกล่าว

ด้าน อรอุมา เยอส่อ เจ้าหน้าที่ประสานงานภาคสนาม ของโครงการ ฯกล่าวว่า จากการที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชน โดยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ทำให้ต้องกลับมาอยู่ในชุมชน กลุ่มที่ 2 ก็คือกลุ่มครู ข้าราชการในพื้นที่ กลุ่มพัฒนาชุมชน ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ก็ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ในส่วนของชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะมีพื้นฐานของการอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว และใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรที่มี สามารถหาอาหารในป่าได้ ในส่วนของข้าวสารก็จะมีการเก็บไว้ในยุ้งฉาง ทำให้มีความมั่นคงทางอาหาร และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งทรัพยากรมีจำนวนมาก และต้องการการสนับสนุนในการแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่มากเช่น ลิ้นจี่ เชอรี่ ขนุน ผลไม้ตามฤดูกาล หากได้รับการสนับสนุนด้านการแปรรูปก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นรายได้ช่วยเหลือให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น กลุ่มวัยรุ่นที่ตกงานและกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจะได้มีงานมีรายได้


ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น