กองทัพกู้ชาติแห่งรัฐฉาน RCSS/SSA จัดงานวันกองทัพครบรอบปีที่ 63 ที่บก.ดอยไตแลง ฐานที่มั่นหลักของกลุ่ม ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านปางคาม ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 กองทัพกู้ชาติแห่งรัฐฉาน RCSS/SSA บก.ดอยไตแลง รัฐฉาน เมียนมา จัดงานวันกองทัพปีที่ 63 ขึ้นที่ สนามปางเสือเผือก มี พล.อ.ยอดศึก ประธาน RCSS/SSA เป็นประธานพิธีมีการวางพวงมาลาอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้า, เจ้ากอนเจิง และพิธีทางศาสนาที่ห้องประชุมขุนส่างต้นฮุงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ทหารหาญ ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ปฏิวัติกอบกู้เอกราชไทใหญ่ และทำพิธีงานที่บริเวณพื้นที่ปางหมาย 6 ร.ร.ชั้นสัญญาบัตรของ กกล.ฯ พร้อมนี้ได้ออกแถลงการณ์จำนวน 1 ฉบับ(5ภาษา) ในช่วงค่ำมีงานเลี้ยงอาหารแก่กำลังพลที่ลานหน้า รร.ชั้นนายร้อยปางหมาย6 เป็นเสร็จพิธี

สำหรับแถลงการณ์ของ กองทัพกู้ชาติแห่งรัฐฉาน ระบุว่า วันปฏิวัติถือเป็นวันดีและวันมงคลและเป็นวันที่ยกย่องชื่นชูเกียรติของเหล่านักรบที่เสียสละ และมีจุดมุ่งหมายต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพต่อไป ส่วนปัญหาด้านการเมืองในพม่าปัจจุบันทาง กลุ่ม RCSS/SSA เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ในส่วนของสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ ( NEC) เป็นอีกหนทางหนึ่งใช้การเจรจาแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่ยังไม่สามารถพูดได้ว่า เป็นวิธีหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ครบถ้วน แต่หากสามารถก่อตั้งสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้ก่อนจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

อนึ่งในวันที่ 21 พ.ค. ของทุกปี ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าถือเอาวันนี้เป็นวันรำลึกการต่อต้านทหารพม่า โดยวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” ขึ้นที่เมืองหาง เขตอำเภอเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยเริ่มต้นมีกำลังพล 30 นาย

โดยในปี 2501 นี้ ถือเป็นปีครบกำหนดที่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานและชนกลุ่มน้อยในรัฐอื่นของพม่า สามารถใช้ “สิทธิแยกตัว” (Right of Secession) ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ระบุว่าหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไปแล้ว 10 ปี หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช โดยสามารถจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที อย่างไรก็ตามไม่มีชนกลุ่มน้อยรัฐใดในรัฐฉานมีโอกาสใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกเป็นอิสระ และทหารพม่ารุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของรัฐชนกลุ่มน้อย

ปัจจุบันในรัฐ ฉาน มีกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าคือกองทัพรัฐฉาน หรือ SSA นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งแยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่ หลังจากที่ขุนส่านำกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army หรือ MTA) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2539

และต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2548 กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army – SSNA) ซึ่งได้แยกตัวจากขุนส่า เมื่อปี 2538 และทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่านั้น ได้เลิกสัญญาหยุดยิงและ พ.อ.เจ้าจายยี่ ผู้นำ SSNA ได้นำกำลังมารวมกับกองทัพรัฐฉาน SSA

ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉาน SSA มีพื้นที่อิทธิพลในเขตรัฐฉานตอนใต้ ขนานชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่ด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ผ่าน อ.เวียงแหง และ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงชายแดนไทยพม่าด้านตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


ทศพล / แม่ฮ่องสอน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น